วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทความสัมภาษณ์ รุ่นพี่สถาปนิกลาดกระบัง : คุณกฤตนู เพชรวราภา (พี่น้ำ)

ณ สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 5 ตุลาคม 2553 เวลา 22.22 น.

อานนท์    : สวัสดีครับ ขอรบกวนเวลาสัมภาษณ์ข้อมูลบางอย่างเล็กน้อยๆ นะครับพี่ พี่ชื่ออะไรครับ
พี่น้ำ        : ชื่อพี่น้ำครับ (กฤตนู  เพชรวราภา)

อานนท์    : ครับผม แล้วพี่น้ำเข้าเรียนและเรียนจบจากลาดกระบังเมื่อปีใดครับ
พี่น้ำ        : พี่เข้าเรียนที่ลาดกระบังเมื่อปี 2524 เรียนจบเมื่อปี 2529 ครับ

อานนท์    : ปัจจุบันนี้พี่น้ำทำงานอะไรอยู่ครับ ? อยู่ที่ไหนครับ ?
พี่น้ำ        : ปัจจุบันก็เป็นสถาปนิก และเปิดบริษัทรับออกแบบสถาปัตยกรรม ชื่อว่า "บริษัท เฟบรัวร์อิมเมจ จำกัด" บริษัทตั้งอยู่ที่ 143/491-2 บรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กทม. 10700 ,โทรศัพท์ :02439, 0243, 0288, 0288-2 ,โทรสาร :02432

อานนท์   : พี่น้ำเป็นสถาปนิกมากี่ปีแล้วครับ ? แล้วมีงานไหนบ้างที่เคยทำมาแล้วรู้สึกประทับใจ หรือภาคภุมิใจครับ ?
พี่น้ำ       : ก็เป็นสถาปนิกมาตั้งแต่เรียนจบละครับ ตั้งแต่ปี 2529 ปัจจุบันก็รวมทั้งสิ้น 24 ปีครับ ส่วนงาน ที่รู้สึกประทับใจในการทำงานก็คือ การได้มีส่วนร่วมในการประกวดออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นการร่วมงานกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิเชษฏ์ สุวิสิทฐ์ แม้ว่าจะไม่ได้สร้างก็ตามที แต่ที่ประทับใจก็เพราะว่า เป็นการร่วมงานที่ใหญ่มากระหว่างสถาปนิกและวิศวกรจำนวนมาก เพื่อสร้างผลงานอันเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนไทย


ทัศนียภาพโดยรวม แบบประกวดอาคารรัฐสภาปห่งใหม่

หุ่นจำลองอาคารประกวดแบบรัฐสภา

โถงทางเข้าของอาคาร

ห้องประชุมรัฐสภา


อานนท์    : มีอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ครับ ในระหว่างการทำงานชิ้นนี้ ?
พี่น้ำ        : ก็มีในเรื่องของการทำงานกับกลุ่มคนจำนวนมากนั่นแหละครับ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะสามารถควบคุมการทำงานของโครงการที่มีมูลค่าสูงมาก และมีขนาดใหญ่มากได้ แต่ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสถาปนิกเรานั้นก็สามารถบริหารทีมงานที่มีขนาดใหญ่ได้

อานนท์    : แล้วพี่น้ำมีข้อคิดในการทำงานสถาปนิกอย่างไรบ้างครับ ?
พี่น้ำ        : การเป็นสถาปนิกนั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก และการที่จะเป็นสถาปนิกที่ดีได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องมีความอดทนและสะสมประสบการณ์ อีกทั้งต้องใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น แล้วนำสิ่งที่ดีที่สุดมาปรับใช้ในการออกแบบต่อไป

อานนท์   : ในเรื่องของการควบคุมการทำงานของวิชาชีพสถาปนิก พี่น้ำมีความคิดเห็นอย่างไร กับจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปนิกบ้างครับ ?
พี่น้ำ       : ก็เมื่อเรา(ผู้สัมภาษณ์) ได้ทำงานดูแล้วก็จะรู้ว่า ความเป็นจริงแล้วมันมีอะไรที่มากกว่า กฎเกณฑ์ที่เราคิดมาก... "กฎเกณฑ์บางครั้งมันก็เป็นแค่ตัวหนังสือในกระดาษ" บางครั้งมันก็มีการเล่นนอกตำรามากเกินไป ก็หวังว่าสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่ขึ้นมาก็ต้องช่วยกันทำให้มันดียิ่งขึ้นไปจากปัจจุบันที่เป็นอยู่

อานนท์    : คำถามสุดท้ายแล้วครับ อยากทราบว่า พี่น้ำมีแนวคิดอย่างไรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อชุมชนบ้างครับ ?
พี่น้ำ        : มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่ความจริงแล้ว ควรจะมีการปลูกฝังตั้งแต่เริ่มต้นเรียนสถาปัตยกรรมตั้งแต่ชั้นปี 1 เลยนะครับ ซึ่งปัจจุบันสถาปนิกใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็อยากที่จะทำงาน ด้านดีไซน์ ด้านออกแบบ ด้านพรีเซนเตชั่น อยากโชว์ผลงาน อยากเป็น "Great Architect" ด้วยกันทั้งนั้น โดยไม่ได้หันกลับมามองว่า ชุมชนและสังคมได้อะไร มองภาพรวมแล้วได้อะไร มัวแต่คิดว่าตัวเองจะทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องทำงานที่เป็นอนุสรณ์สถานที่มันดูดี ยิ่งใหญ่ แต่ทำงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและโลกจะดีกว่า แล้วโลกจะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

อานนท์    : สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่น้ำเป็นอย่างมากครับ ที่ได้สละเวลาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ยินดีที่ได้รู้จักพี่น้ำครับ ขอบคุณมากครับ
พี่น้ำ        : ยินดีเช่นกันครับ

ถ่ายภาพร่วมกับพี่น้ำ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 5 ตุลาคม 2553 เวลา 22.22 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น