วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องที่ 10 : จรรยาบรรณวิชาชีพกับการเปลี่ยนแปลง (Thailand Version)

เรื่องที่ 10   
จรรยาบรรณวิชาชีพกับการเปลี่ยนแปลง 


                                                         


วัฎจักรแห่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพการณ์ทางสังคมและสถานการณ์ทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมนับได้ว่าเกิดขึ้นตลอดเวลาตามการพัฒนาของคน สังคม วัฒนธรรม ความเจริญทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ ในระดับสังคมประเทศอีกมากมาย หลายสาเหตุเหล่านี้ย่อมทำให้ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสมควรมีการทบทวนแก้ไขให้เท่าทันกับบริบทแห่งความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังปรากฎในอดีตที่ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจรรยาบรรณของสถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การยกเลิกข้อบังคับที่ห้ามสถาปนิกเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

คณะกรรมการจรรยาบรรณในวาระปัจจุบัน (2550-53) จึงได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.. 2545 ผ่านการทำงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ด้วยเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วผนวกกับเหตุผลหลักดังต่อไปนี้

1.    ข้อบังคับเดิมบางข้อมีปัญหาในการวินิจฉัย เนื่องจากไม่มีความชัดเจนเพียงพอ อันเนื่องมาจากเหตุผลดังต่อไปนี้

1)   การอ้างอิงมาตรฐานที่ยังไม่มีหรือยังมิได้ประกาศใช้ หรือมีการอ้างอิงมาตรฐานที่ไม่สามารถตรวจวัดเชิงปริมาณได้อย่างชัดเจน เช่น “มาตรฐานการประกอบวิชาชีพ” “ค่าบริการวิชาชีพมาตรฐาน” “ความตั้งใจใจการปฏิบัติวิชาชีพ” และ “การปฏิบัติวิชาชีพอย่างเต็มความสามารถ” เป็นต้น

       การรวมกรณีการกระทำผิดจรรยาบรรณ 2 กรณีไว้ในข้อเดียวกันโดยใช้ “และ” เป็นตัวเชื่อม ดังนั้นหากผู้ประกอบวิชาชีพกระทำผิดเพียงกรณีใดกรณีหนึ่ง คณะกรรมการฯ อาจพิจารณาวินิจฉัยได้ว่า ไม่มีความผิดอันเนื่องจากการกระทำผิดเพียงกรณีเดียวนับว่าไม่ครบองค์ประกอบการกระทำความผิดได้
 
2.    ข้อบังคับบางข้อไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการห้ามโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอย่างสิ้นเชิงในทุกกรณี ซึ่งเป็นปัญหาสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติวิชาชีพ การวินิจฉัยของคณะกรรมการ และเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการรับบริการทางวิชาชีพต่อผู้ว่าจ้าง สังคมและสาธารณะได้

3.    ยกเลิกการแบ่งข้อบังคับออกเป็นหมวดและประเด็น โดยปรับแก้ไขให้เป็นรายข้อเรียงตามกันมา ด้วยเหตุผลว่า การกระทำความผิดจรรยาบรรณในข้อใดข้อหนึ่งนั้น หรือกรณีใดกรณีหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบเชื่อมโยงกันทั้งต่อสาธารณะ ต่อวิชาชีพ ต่อผู้ว่าจ้าง และต่อผู้ร่วมวิชาชีพทุกด้านทุกประเด็นทั้งในทางตรงและทางอ้อมอยู่แล้วในที่สุด 

นอกจากนี้แล้ว ในภาพรวมของแนวทางการพิจารณาคดีการกระทำผิดจรรยาบรรณของคณะกรรมการจรรยาบรรณที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาวินิจฉัยโดยใช้ดุลพินิจและประสบการณ์การปฏิบัติวิชาชีพเฉพาะบุคคลตามคุณสมบัติที่ปรากฎในข้อกฎหมาย ทั้งนี้คณะกรรมการจรรยาบรรณในอดีตที่ผ่านมาจนปัจจุบันที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับความเชื่อถือในวงการวิชาชีพกันทุกท่าน ดังนั้น เนื้อหาข้อบังคับเดิมบางส่วนที่มีเนื้อหารายละเอียดชัดเจนมากจนเกินไป อาจเป็นอุปสรรคต่อทั้งการพิจารณาของคณะกรรมการเองที่ต้องตีความและวินิจฉัยชี้ขาดได้เพียงตามตัวหนังสือที่ปรากฎในข้อบังคับอย่างตรงตัว และตัวผู้ปฏิบัติวิชาชีพเองย่อมไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้เท่าใดนักเลย เนื่องจากมีข้อห้ามที่จำเพาะเจาะจงอย่างมากมายจนดูแล้วเห็นว่าการกระทำใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายหรือสุมเสี่ยงต่อการกระทำความผิดเสียทั้งหมด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผู้ถูกกล่าวหามิได้มีความตั้งใจหรือเจตนาจะกระทำความผิดแต่อย่างใด

        ดังนั้น ในการปรับปรุงข้อบังคับใหม่ครั้งนี้ คณะกรรมการและอนุกรรมการจึงเห็นว่าในเนื้อหาข้อบังคับจะมีการปรับแก้ให้กำหนดเป็นเพียงหลักการแห่งการกระทำความผิดไว้ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการได้มีโอกาสใช้ดุลพินิจพิจารณา วินิจฉัยโดยคำนึงสาเหตุ เจตนา และผลแห่งการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาได้มากยิ่งขึ้น และส่งผลถึงโอกาสการถูกร้องเรียนและความสุ่มเสี่ยงในการกระทำความผิดของผู้ประกอบวิชาชีพจะมีแนวโน้มลดลงได้ 
ปัจจุบัน ร่างข้อบังคับจรรยาบรรณฉบับใหม่นี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกันในหมู่สมาชิกจากสมาคมวิชาชีพทั้ง 4 สาขา (ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดร่างข้อบังคับฉบับใหม่นี้ได้ที่ www.act.or.th) เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขครั้งสุดท้ายก่อนนำเข้าที่ประชุมใหญ่ สภาสถาปนิกพิจารณาให้ความเห็นชอบในระยะเวลาอันใกล้นี้ และหลังจากนี้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องจะได้พิจารณาปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจึงควรให้ความสนใจและใส่ใจศึกษารายละเอียดเนื้อหาร่างข้อบังคับฉบับใหม่นี้ให้ถี่ถ้วน และนำเสนอข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของตนเองเพื่อการปรับปรุงต่อผู้รับผิดชอบหากกระทำได้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและวิชาชีพในภาพรวม รวมทั้งต้องติดตามข้อมูลการประกาศบังคับใช้ข้อบังคับฉบับใหม่และทำความเข้าใจเนื้อหารายละเอียดที่มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสภาสถาปนิกอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งพึงระมัดระวังมิให้ตนเองกระทำความผิดตามเนื้อหาข้อบังคับใหม่หลังการบังคับใช้โดยเคร่งครัดต่อไป


(ขอขอบพระคุณคณะกรรมการจรรยาบรรณ วาระปัจจุบัน (2550-53) กรุณาให้ข้อเสนอแนะ และข้อมูลเพิ่มเติมในการปรับปรุงเนื้อหาครั้งนี้มา ณ โอกาสนี้ อันประกอบด้วย
1)    หม่อมหลวงภุมรีรัตน์ จงเจริญสุข                                ประธานคณะกรรมการ
2)    คุณสุพจน์ โกวิทวานิชย์                                              กรรมการ
3)    นาวาอากาศเอก หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์       กรรมการ


รายการอ้างอิง

1.   ฐนิธ กิตติอำพน, รัชด ชมภูนิช. 20 คำถามกับจรรยาบรรณสถาปนิก. สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพฯ, 2549.
2.   พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.. 2543
3.   ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.. 2545, สภาสถาปนิก. 
4.   ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.. 2544, สภาสถาปนิก. 
5.   สัมภาษณ์ หม่อมหลวงภุมรีรัตน์ จงเจริญสุข ประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณ พ.. 2550-53, วันที่ 6 มกราคม 2552.                
6.   สัมภาษณ์ คุณสุพจน์ โกวิทวานิชย์ กรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก พ.. 2550-53, วันเดียวกัน.
7.   สัมภาษณ์ นาวาอากาศเอก หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก พ.ศ. 2550-53, วันเดียวกัน.          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น