เรื่องที่ 2
ความเป็นมาของจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรม และคณะกรรมการจรรยาบรรณ
“….คณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก เป็นผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตรา 57 ให้เป็นเจ้าพนักงานทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกรณีมีผู้กล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมทุกสาขาวิชาชีพว่ากระทำความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่ปรากฎในข้อบังคับ…..”
การศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยนับได้ว่าเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 หลังจากอาจารย์นารถ โพธิประสาท สำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ กลับมาเปิดการเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่โรงเรียนเพาะช่าง และต่อเนื่องย้ายมาเป็นแผนกสถาปัตยกรรมในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนพัฒนากลายเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ณ สถาบันเดียวกัน หลังจากนั้นการควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมจึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่นานนัก โดยกลุ่มสถาปนิกซึ่งส่วนใหญ่จบการศึกษาจากต่างประเทศได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในปี พ.ศ. 2477 เพื่อดำเนินกิจกรรมพัฒนาและกำกับดูแลการปฏิบัติวิชาชีพของสถาปนิกมาอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างขึ้นตามจำนวนสถาปนิกที่เพิ่มขึ้น ต่อมาสมาคมฯ ได้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 เพื่อควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมขึ้นอย่างเป็นทางการจากภาครัฐโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ในประเทศไทยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากนั้นรัฐบาลได้ประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อกำหนดเป็นมรรยาทแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เพื่อใช้เป็นกรอบปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมมาโดยตลอดเป็นเวลา 23 ปี จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2534 กระทรวงมหาดไทยได้ยกเลิกกฎกระทรวงนี้แล้วประกาศใหม่เป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับข้างต้นเพื่อใช้งานทดแทน โดยกำหนดเป็นมรรยาทแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ไว้รวม 17 ข้อ โดยตัดเนื้อหาเดิมที่ระบุว่า “ห้ามสถาปนิกกระทำการรับเหมาก่อสร้าง” ออกเพื่อให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมวิชาชีพซึ่งนับเป็นการแก้ไขเพียงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาขณะนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายได้ใช้มรรยาทแห่งวิชาชีพฯ นี้เป็นกรอบการปฏิบัติวิชาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (กส.) กระทรวงมหาดไทย ต่อมาเมื่อก่อตั้งสภาสถาปนิกขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 จะมีคณะกรรมการสภาสถาปนิกเป็นตัวแทนผู้ปฏิบัติวิชาชีพทั้ง 4 สาขาทำหน้าที่กำกับดูแลการแทนที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (กส.) แต่เดิม เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้มีโอกาสกำกับดูแลการทำงานของคนในวิชาชีพเดียวกันอย่างอิสระ จากกฎหมายดังกล่าว ทำให้อำนาจหน้าที่ดูแลด้านจรรยาบรรณของสถาปนิกได้กลายเป็นภาระงานตามกฎหมายของสภาสถาปนิกโดยสิ้นเชิง ต่อมา สภาสถาปนิกได้ปรับปรุงแก้ไขมรรยาทแห่งวิชาชีพฯ 17 ข้อตามกฎกระทรวงข้างต้นและประกาศเป็นข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2545 จำนวน 25 ข้อ ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2546 มาจนปัจจุบัน
คณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก
เป็นผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตรา 57 ให้เป็นเจ้าพนักงานทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกรณีมีผู้กล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมทุกสาขาวิชาชีพว่ากระทำความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่ปรากฎในข้อบังคับ คณะกรรมการจรรยาบรรณชุดนี้จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสภาสถาปนิก และมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งได้คราวละ 3 ปีแต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ประกอบด้วยประธาน 1 คน และกรรมการจรรยาบรรณตามจำนวนที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกกำหนดแต่ไม่น้อยกว่า 3 คน คณะกรรมการดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม และต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่ปรากฎในมาตรา 53 ในพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนี้คือ
เป็นผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตรา 57 ให้เป็นเจ้าพนักงานทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกรณีมีผู้กล่าวหาผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมทุกสาขาวิชาชีพว่ากระทำความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่ปรากฎในข้อบังคับ คณะกรรมการจรรยาบรรณชุดนี้จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสภาสถาปนิก และมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งได้คราวละ 3 ปีแต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน ประกอบด้วยประธาน 1 คน และกรรมการจรรยาบรรณตามจำนวนที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกกำหนดแต่ไม่น้อยกว่า 3 คน คณะกรรมการดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม และต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่ปรากฎในมาตรา 53 ในพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนี้คือ
1) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
2) ไม่เคยถูกลงโทษประพฤติผิดจรรยาบรรณ
คณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกในวาระปัจจุบัน (พ.ศ. 2550-53) ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ดังต่อไปนี้
1) หม่อมหลวงภุมรีรัตน์ จงเจริญสุข ประธานคณะกรรมการ
2) นายกี ขนิษฐานันท์ กรรมการ
3) นายเจตกำจร พรหมโยธี กรรมการ
4) นายสุพจน์ โกวิทวานิชย์ กรรมการ
5) นายสมบูรณ์ เวสสุนทรเทพ กรรมการ
6) นายพิศิษฐ์ โรจนวานิช กรรมการ
7) ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพปฎล สุวัจนานนท์ กรรมการ
8) นาวาอากาศเอก หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ กรรมการ
ทั้งนี้มี พลตำรวจตรีไกรสร ศรศรี เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการจรรยาบรรณ
คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก
ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มาตรา 58 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ เพื่อลดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อกล่าวหาและการสอบสวน สำหรับในวาระคณะกรรมการจรรยาบรรณชุดปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยดำเนินงานเพิ่มเติมอีก 2 ชุดดังต่อไปนี้
1. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการร้องเรียนการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจตามมาตรา 59 ของ พระราชบัญญัติสถาปนิก คือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีหน้าที่หลักคือกลั่นกรองข้อกล่าวหาเบื้องต้นแทนคณะกรรมการจรรยาบรรณ ด้วยการพิจารณาตรวจสอบและวินิจฉัยข้อกล่าวหาและหลักฐานที่ได้รับมาว่าเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณหรือไม่อย่างไร หากเห็นว่าหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับยังไม่เพียงพอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ร้องเรียน หรือผู้กล่าวหาทั้งในส่วนราชการ หรือเอกชนมาสอบถาม และหรือขอเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องเรียนหรือกล่าวหา หรือวัตถุใดๆ มาเพื่อเป็นประโยชน์แห่งการพิจารณา
และอีกทางหนึ่งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่ถูกร้องเรียน หรือ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมาให้ถ้อยคำ และหรือส่งเอกสาร หลังจากพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ จนครบถ้วนแล้ว กรณีคดีไม่มีมูลหรือไม่เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอแนวทางวินิจฉัยต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณให้ยกข้อกล่าวหา หากมีมูลจะเสนอเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนต่อไป
รายนามคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้แก่
1) พลตำรวจตรีไกรศร ศรศรี ประธานอนุกรรมการ
2) พันตำรวจเอกพิชัย พิมลสินธุ์ อนุกรรมการ
3) นายนิติศักดิ์ ชอบดำรงธรรม อนุกรรมการ
4) พันตรีกมล วงศ์สมบุญ อนุกรรมการ
5) นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ อนุกรรมการและเลขานุการ
2. คณะอนุกรรมการสอบสวน
เป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่สอบสวนสำนวนคดีตามข้อกล่าวหากรณีเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณ โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะมีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนคู่กรณี สอบพยาน ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และทำความเห็นตลอดจนเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดอีกครั้งหนึ่ง อนึ่งคณะอนุกรรมการสอบสวนมิได้มีการแต่งตั้งไว้เป็นการถาวร โดยคณะกรรมการจรรยาบรรณจะพิจารณาแต่งตั้งเป็นคราวๆ ไปตามคดีหรือข้อกล่าวหานั้นๆ และสิ้นสุดวาระลงเมื่อการสอบสวนพิจารณาคดีนั้นสิ้นสุดลง
องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการสอบสวนประกอบด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในสาขาเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา และมีคุณวุฒิตามใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ท่าน แต่หากมีคุณวุฒิเท่ากันก็ให้พิจารณาแต่งตั้งผู้มีอาวุโสกว่าเป็นอนุกรรมการได้ โดยตามข้อบังคับว่าด้วย การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2544 กำหนดให้อนุกรรมการผู้มีอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่เป็นประธานอนุกรรมการ นอกจากนี้คณะอนุกรรมการยังต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังต่อไปนี้คือ
1) ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
2) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ
สำหรับกระบวนการพิจารณาคดีคณะกรรมการและอนุกรรมการชุดต่างๆ จะดำเนินการตามอำนาจและขั้นตอนใน พระราชบัญญัติสถาปนิก และข้อบังคับว่าด้วย การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตฯ ดังกล่าวแล้วเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในข้อบังคับฉบับเดียวกัน ยังระบุไว้ว่าสถาปนิกผู้ถูกกล่าวหาอาจคัดค้านการแต่งตั้งอนุกรรมการผู้หนึ่งผู้ใดได้ ถ้าเห็นว่าอนุกรรมการผู้นั้นเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ถูกกล่าวหา โดยการคัดค้านดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือแสดงเหตุผลคัดค้านต่อประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณภายใน 15 วันนับตั้งแต่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการจากสภาสถาปนิก แต่อย่างไรก็ตามสิทธิในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการจรรยาบรรณที่จะพิจารณาว่าคำขอดังกล่าวมีเหตุผลอันควรหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น