จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม
เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัชด ชมภูนิช
สารบัญเนื้อหา
1. ความหมายและความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
2. ความเป็นมาของจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรมและคณะกรรมการจรรยาบรรณ
3. องค์ประกอบและเนื้อหาของจรรยาบรรณวิชาชีพ
4. กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณวิชาชีพ
5. ความผิดและบทลงโทษคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ
6. ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคดีจรรยาบรรณ
7. การเตรียมตัวเมื่อถูกกล่าวหาคดีจรรยาบรรณและการขออุทธรณ์ลดโทษ
8. คดีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ผู้ปฏิบัติวิชาชีพมักกระทำผิดเสมอ
9. 10 กรณีศึกษา : ปัญหาจรรยาบรรณควรรู้
1) สถาปนิกให้สัมภาษณ์แนะนำวัสดุก่อสร้างผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
2) สถาปนิกจัดรายการโทรทัศน์หรือวิทยุ ทำการประชาสัมพันธ์ผู้สนับสนุนรายการผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
3) สถาปนิกเป็น Presenter ยาสีฟันผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
4) สถาปนิกเป็น Presenter กระเบื้องมุงหลังคาผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
5) สถาปนิกแนะนำหรือประชาสัมพันธ์หนังสือของตนเองผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
6) สถาปนิกหรือบริษัทสถาปนิก ประชาสัมพันธ์ผลงานตนเองหรือของบริษัทในสื่อต่างๆ ผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
7) ลูกค้าไม่จ่ายค่าแบบแล้วสถาปนิกไม่ทำงานต่อ จะถูกกล่าวหาว่าละทิ้งงานหรือไม่?
8) สถาปนิกเป็น Sales ขายสีผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
9) สถาปนิกคิดค่าแบบสูงกว่าหรือต่ำกว่ามาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
10) สถาปนิกออกแบบสถานบริการอาบอบนวดผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
10. จรรยาบรรณวิชาชีพกับการเปลี่ยนแปลง
เรื่องที่ 1
ความหมายและความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพ
“…..จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมเปรียบเสมือน กฎ กติกาและมารยาท ให้ผู้ประกอบวิชาชีพถือเป็นกรอบในการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับนักกีฬาประเภทต่างๆ ที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามกติกาของกีฬาชนิดนั้นๆ ขณะทำการแข่งขันเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย…..”
วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเป็นวิชาชีพที่ต้องการผู้มีคุณสมบัติประกอบด้วยสติปัญญา และความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์และเปี่ยมด้วยทักษะการให้บริการทางวิชาชีพอย่างมีมาตรฐาน อันเนื่องมาจากผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพล้วนแล้วแต่มีผลสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัย ตลอดจนมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางกายภาพด้านต่างๆ ของมนุษย์ และสภาพภูมิทัศน์ของเมืองและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม นอกจากจะต้องให้บริการแก่ลูกค้าตามข้อกำหนดในการปฏิบัติวิชาชีพต่างๆ กรอบแห่งกฎหมายและข้อกำหนดในสังคมแล้ว ยังต้องระลึกถึงความถูกต้องทางศีลธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตทางสังคมมากกว่ากรอบการดำเนินธุรกิจทั่วไปของผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ อีกด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมจึงต้องมีข้อกำหนดในการประพฤติเพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อให้การดำเนินอาชีพของแต่ละบุคคลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ไม่เอารัดเอาเปรียบกันในหมู่นักวิชาชีพและลูกค้าผู้ว่าจ้าง กรอบปฏิบัตินี้ถูกกำหนดไว้เป็นจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกสาขาให้ใช้เป็นแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติอย่างมีสัมมาอาชีวะ และเป็นข้อห้ามมิให้ผู้ถือใบอนุญาตทั้งหลายกระทำการใดๆ อันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสาธารณะ และเกียรติศักดิ์วิชาชีพของตนเองอีกด้วย
คำศัพท์ “จรรยาบรรณ” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “ประมวลความประพฤติที่ประกอบอาชีพการงานอย่างหนึ่งกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียงและรากฐานของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้” ดังนั้น จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงมีแปลความหมายได้ว่า “ประมวลความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของบรรดาสมาชิกที่ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม”
ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกสาขาอันได้แก่ สถาปนิก ภูมิสถาปนิก สถาปนิกนักผังเมือง มัณฑนากรและสถาปนิกนักตกแต่งภายใน สามารถศึกษารายละเอียดเนื้อหาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพได้จาก ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2545 ซึ่งสภาสถาปนิกประกาศบังคับใช้ภายใต้อำนาจตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เนื้อหาโดยรวมของข้อบังคับนี้จะมุ่งเน้นให้สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่นๆ มีความตระหนัก มีจิตสำนึกในการปฏิบัติงานและระมัดระวังเรื่องคุณภาพของผลงานของตน ว่าจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสภาพแวดล้อม ต่อสาธารณชน และต่อชุมชนที่ตั้งโครงการหรืออาคารบ้านเรือน อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบวิชาชีพทั้งต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ ต่อผู้ว่าจ้างและเพื่อนร่วมอาชีพอีกด้วย
จรรยาบรรณวิชาแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมจึงเป็นกรอบปฏิบัติสำคัญเพื่อให้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพยึดถือเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ และเป็นไปตามหลักแห่งทางคุณธรรมจริยธรรม อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าหรือประชาชนผู้รับบริการ และสังคมสาธารณะเป็นสำคัญ หากผู้ประกอบวิชาชีพไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณคงเปรียบได้กับนักกีฬาที่ไม่เคารพกฎกติกาหรือปฏิบัติตามกรรมการผู้ตัดสินขณะลงสนามแข่งขัน ย่อมเกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอยู่ตลอดเวลา จากเหตุเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหากขาดกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพไว้ถือปฏิบัติแล้ว สังคมวิชาชีพอาจเกิดการแข่งขัน แย่งชิงผลประโยชน์เข้าตนเองกันทุกวิถีทางโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องใดๆ ทั้งสิ้น ผลเสียย่อมส่งมาถึงการปฏิบัติงาน และผลงานการออกแบบที่ขาดมาตรฐาน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายที่คาดเดาไม่ได้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการและสังคม จนในที่สุดแล้ววิชาชีพก็จะถึงจุดเสื่อมสลายเนื่องจากบุคคลและวิชาชีพจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนในสาธารณะอีกต่อไป
จรรยาบรรณจึงถือเป็นหลักการทำงานสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกสาขาต้องยึดถือไว้ตลอดการปฏิบัติงานของตนเอง เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่มีผลการบังคับใช้ตามกฎหมายรวมทั้งมีบทลงโทษในกรณีไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ดังปรากฎตามข้อความในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ที่ระบุแนวทางการปฏิบัติและการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมไว้ในมาตรา 50 ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ” และมาตรา 51 ว่า “บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือพบการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใดๆ มีสิทธิกล่าวหาผู้ถือใบอนุญาตนั้นด้วยการทำเรื่องยื่นต่อสภาสถาปนิก ได้”
ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมพึงสังวรณ์และระลึกไว้เสมอว่า เมื่อตนเองฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดจรรยาบรรณตามเหตุที่ปรากฎในข้อบังคับฯ จรรยาบรรณ จะถูกพิจารณาวินิจฉัยความผิดตามกฎหมายวิชาชีพ (พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543) และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน พิจารณาคดีและมีอำนาจตัดสินลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำความผิดตามลักษณะความผิดอย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบวิชาชีพพึงเข้าใจว่า การถูกพิจารณาโทษตามคดีจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่มีการพิจารณาแยกจากบทลงโทษอื่นๆ ตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายปกครอง โดยผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ อาจได้รับบทลงโทษทางแพ่งหรืออาญาเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นการลงโทษปรับ หรือจำคุก ตามเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการฝ่าฝืนข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกก็เป็นได้ หรืออาจไม่ได้รับบทลงโทษอื่นใดอีกเลยนอกเหนือจากบทลงโทษคดีจรรยาบรรณก็เป็นได้อีกเช่นกัน หากการกระทำผิดจรรยาบรรณนั้นไม่ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นดังกล่าวแล้วข้างต้น
สรุปความได้ว่าจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมเปรียบเสมือน กฎ กติกาและมารยาท ให้ผู้ประกอบวิชาชีพถือเป็นกรอบในการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับนักกีฬาประเภทต่างๆ ที่ต้องยึดถือปฏิบัติตามกติกาของกีฬาชนิดนั้นๆ ขณะทำการแข่งขันเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย โดยมีกรรมการตัดสินอันได้แก่ องค์กรแห่งวิชาชีพของตนเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมผู้เล่น (ผู้ประกอบวิชาชีพ) แต่ละคน ให้ถือปฏิบัติตามกติกาหรือจรรยาบรรณโดยเคร่งครัดเพื่อมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของมวลชนส่วนรวมและเพื่อจรรโลงวิชาชีพให้ยั่งยืนสืบไปในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น