วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องที่ 9 : 10 กรณีศึกษา : ปัญหาจรรยาบรรณควรรู้ (Thialand Version)

เรื่องที่ 9 
10 กรณีศึกษา : ปัญหาจรรยาบรรณควรรู้


                                                          


 
       ในระหว่างการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทั้งหลายอาจมีข้อคำถามหรือข้อข้องใจหลายข้อเกี่ยวกับการปฏิบัติวิชาชีพในกรณีต่างๆ ว่าจะเป็นการผิดจรรยาบรรณหรือไม่อย่างไร ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางประพฤติที่ถูกต้องของผู้ประกอบวิชาชีพ และลดความเสี่ยงต่อการกระทำผิดจรรยาบรรณ จึงได้รวบรวมกรณีศึกษาจากคำร้องหรือข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นจริงเป็นส่วนใหญ่มาอธิบายประกอบเนื้อหาตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.. 2545  ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานหลักในการตรวจสอบและพิจารณาการกระทำความผิดจรรยาบรรณเพื่ออ้างอิงไว้ประกอบการศึกษา

กรณีศึกษา 10 เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่ดูคุ้นเคยและใกล้ตัวเราท่านทั้งสิ้น และตัวอย่างหลายๆ ข้อก็มีแนวทางวินิจฉัยว่าเป็นความผิดจรรยาบรรณโดยที่ผู้ประกอบวิชาชีพคาดไม่ถึงก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่า ข้อวินิจฉัยเหล่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น (พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน ผู้ให้ข้อมูลในฐานะรองประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก. 2547-50)  ดังนั้นแนวทางวินิจฉัยหรือคำตอบเหล่านี้จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการพิจารณาคดีตามระเบียบข้อบังคับแต่อย่างใด แต่สามารถใช้เป็นแนวทางตรวจสอบความถูกผิดเบื้องต้นในการปฏิบัติ และเพื่อประกอบการเตรียมเอกสาร หลักฐานและข้อแก้ต่างที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ อันเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าในการพิจารณาคดีความ ตลอดจนการสรุปผลวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณ ยังมีปัจจัยแวดล้อมนอกเหนือต่างๆ รวมทั้งหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลที่ใช้ประกอบการพิจารณาคดีอีกด้วย

10 กรณีศึกษาควรรู้เกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรม  
1. สถาปนิกให้สัมภาษณ์แนะนำวัสดุก่อสร้าง ผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ?
       การที่สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใดให้คำสัมภาษณ์กับสินค้าวัสดุก่อสร้างผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง โดยมีเนื้อหาบ่งชี้ถึงข้อดีข้อเสียหรือเสนอแนะการใช้งานหรือส่งเสริมให้สินค้านั้นดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นในท้องตลาด และผู้สัมภาษณ์หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์นำบทความนั้นไปลงเผยแพร่ในเอกสาร หนังสือหรือสื่ออื่นใดก็ดีโดยมีชื่อผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ด้วย ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่ก็ตาม การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม ใน หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ  ข้อ12  ที่ว่า  “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตน หรือชื่อของตน ไปโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งปวง ทั้งพึงระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนถูกเผยกแพร่ออกไปในสื่อต่างๆ ในทำนองโฆษณาความรู้ความสามารถของตนเองหรือของผู้อื่น” เนื่องจากกรณีดังกล่าวบริษัทวัสดุก่อสร้างได้นำชื่อ คุณวุฒิหรือสถานภาพของสถาปนิกใช้โฆษณาหรือรับรองคุณสมบัติของวัสดุทางการก่อสร้างซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของสินค้าโดยเจ้าตัวมิได้มีข้อโต้แย้งหรือคัดค้านใดๆ จึงเข้าใจได้ว่าสถาปนิกคนดังกล่าวยินยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้เผยแพร่ไปในสื่อต่างๆ จึงนับว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างแน่นอนแม้ว่าสถาปนิกดังกล่าวจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม 

        อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีรูปแบบการประชาสัมพันธ์อีกวิธีหนึ่งที่แพร่หลายและนิยมกันอย่างยิ่งคือ การให้สัมภาษณ์ของสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแบบ Advertorial   รูปแบบของการสัมภาษณ์แบบนี้จะหลีกเลี่ยงระดับความเข้มข้นของข่าวสารที่ชี้นำหรือเอื้อประโยชน์ต่อผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งเพื่อมิให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นการโฆษณาอย่างชัดเจน แต่เนื้อหาจะมุ่งเน้นให้ดูเหมือนบทความทางวิชาการที่ให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในภาพรวมเป็นหลัก แต่จะมีข้อความหรือเนื้อหาทิ้งท้ายด้วยตัวอย่างวัสดุของบริษัท หรือแสดงตราผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้า กรณีดังกล่าวนี้ถ้าเป็นการสัมภาษณ์ให้ความรู้ทั่วไปที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่ถือว่าเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณ แต่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้สัมภาษณ์ควรระมัดระวังไม่ให้เนื้อหาหรือมีข้อความชี้นำให้เกิดผลประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น ตลอดจนควรขอตรวจสอบเนื้อหาหรือ Artwork ต้นฉบับให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อนตีพิมพ์ และสิ่งสำคัญคือไม่ควรให้เนื้อหาบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีตราสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ปรากฏอยู่ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นการชี้นำที่เป็นผลดีต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้

2. สถาปนิกจัดรายการโทรทัศน์หรือวิทยุ ทำการประชาสัมพันธ์ผู้สนับสนุนรายการผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ?
          การจัดรายการโทรทัศน์และทางวิทยุหรือสื่ออื่นๆ สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใด ย่อมมีสิทธิ์ที่จะเป็นพิธีกรหรือผู้จัดรายการได้ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนย่อมสามารถกระทำได้ในฐานะพิธีกร เมื่อสถาปนิกประชาสัมพันธ์สินค้าอุปโภคบริโภคหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง ย่อมไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณอย่างแน่นอน แต่ในกรณีผู้สนับสนุนเป็นผลิตภัณฑ์หรือวัสดุก่อสร้างนั้น หากว่าสถาปนิกผู้จัดรายการมิได้แสดงตนว่าเป็นสถาปนิก หรือมิได้มีเนื้อหาคำพูดหรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการชี้นำผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนรายการว่ามีข้อดีอย่างไร หรือควรเลือกใช้งานอย่างไร เพราะเหตุใด ถือได้ว่าไม่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ 

          แต่ถ้าหากสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพในฐานะพิธีกรกล่าวชี้นำถึงวัสดุผลิตภัณฑ์ผู้สนับสนุนในรายการของตน อีกทั้งยังเผยแพร่หรือมีข้อความแสดงว่าตนเองเป็นสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่บริษัทอื่นใด หรือแม้แต่เป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือกระทำการที่เป็นการโฆษณา  หรือเสนอแนะให้ผู้ฟัง/ ผู้ชมในรายการเห็นว่าวัสดุก่อสร้างที่นำเสนอนั้นเป็นสินค้าที่ดี มีคุณสมบัติเหมาะสม มีคุณภาพดีต่อการใช้งาน ถือว่าเป็นความผิดในจรรยาบรรณอย่างแน่นอน ตามเนื้อหาใน ข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ  ข้อ12  เช่นกัน

       สรุปได้ว่า การวินิจฉัยว่าผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมใดประชาสัมพันธ์สินค้าวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ทางการก่อสร้างหรือไม่นั้น หากมิได้ใช้วิชาชีพของตนเองมาเกี่ยวข้องถือว่าไม่เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ โดยบุคคลดังกล่าวจะถือว่าเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าเหมือนกับนักแสดงหรือศิลปินทั่วไป กรณีที่เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณนั้น คณะกรรมการจะพิจารณาจากการกระทำที่บุคคลนั้นใช้คุณสมบัติของตนเอง หรือความรู้ในวิชาชีพชี้นำให้ประชาชนหรือผู้บริโภคคล้อยตามว่าสินค้านี้ดีกว่าอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งเป็นสำคัญ

3. สถาปนิกเป็น Presenter ยาสีฟันผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
       หากสสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อื่นนอกเหนือจากวัสดุก่อสร้าง การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลในเชิงธุรกิจ ซึ่งจัดเป็นข้อตกลงระหว่างกันทางธุรกิจประเภทหนึ่ง ถือได้ว่าขณะนั้นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นมิได้ประกอบวิชาชีพในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ และมิได้ใช้คุณสมบัติแห่งวิชาชีพของตนเองรับรองผลิตภัณฑ์หรือนำเสนอต่อผู้รับฟังหรือผู้ชมว่าตนเองเป็นสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใด โดยเฉพาะสินค้าที่นำเสนอมิได้เป็นวัสดุหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องด้านสถาปัตยกรรม จึงนับได้ว่าการปฏิบัติตนหรือเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าดังกล่าวตามข้างต้น ถือได้ว่าไม่เป็นการผิดจรรณยาบรรณแห่งวิชาชีพ

4. สถาปนิกเป็น Presenter กระเบื้องมุงหลังคาผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
          การที่สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่นใดเป็นพรีเซนเตอร์กระเบื้องมุงหลังคาจะผิดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของการปฏิบัติ ถ้าหากผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวไปเป็นพรีเซนเตอร์กระเบื้องมุงหลังคาซึ่งจัดว่าเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทหนึ่ง โดยถือสถานภาพอยู่ในฐานะพรีเซนเตอร์หรือนักแสดงมาแนะนำหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า โดยผู้รับฟัง ผู้รับชมทางสื่อต่างๆ ไม่ทราบหรือรับรู้ว่าผู้นั้นเป็นนักวิชาชีพ หรือไม่ได้ใช้สถานภาพทางวิชาชีพมารับรองสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ถือได้ว่าการนำเสนอลักษณะนี้ไม่จัดว่าเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่หากมีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะใดแสดงว่าผู้ที่เป็นพรีเซนเตอร์นั้นเป็นสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจนหรือไม่ก็ตามแต่ ถือว่ามีการนำคุณสมบัติหรือสถานภาพของผู้ประกอบวิชาชีพมาชี้นำและเอื้อประโยชน์ต่อสินค้าที่เป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพตามข้อความที่ปรากฏในข้อบังคับฯ หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ  ข้อ12  เช่นเดียวกัน 

5. สถาปนิกแนะนำหรือประชาสัมพันธ์หนังสือของตนเองผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ?
        การที่สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแนะนำหรือโฆษณาหนังสือของตนเอง ถ้าเป็นหนังสือทั่วไป เช่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว  แนะนำรายการอาหาร นิยาย เรื่องสั้น หรือเป็นเอกสาร ตำรา และบทความทางวิชาการใดๆ นั้น ไม่ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ แต่ถ้าหากหนังสือนั้นเป็นการประชาสัมพันธ์แนะนำผลงานการทำงานของตนหรือบริษัทของตน โดยกล่าวยกย่องโอ้อวดถึงความสามารถของตนเอง คุณภาพของงาน คุณสมบัติการทำงาน ตลอดจนความดีงามของผลงานการออกแบบในหนังสืออย่างเกินความเหมาะสม จัดได้ว่าเป็นหนังสือที่แสดงความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพของตนเพื่อนำเสนอให้สาธารณะหรือบุคคลทั่วไปรับทราบในความสามารถอย่างเกินพอเหมาะพอดีเหล่านี้ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพใน หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ  ข้อ11 ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณา ด้วยประการใดๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนเอง เว้นแต่การแสดง ชื่อ ตำแหน่ง คุณวุฒิ สาขาของวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นเอง”  ดังนั้นการที่สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพแนะนำหรือประชาสัมพันธ์หนังสือของตนเองจะต้องแยกให้ออกว่าหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาในลักษณะใด และเป็นการแนะนำเพื่อประโยชน์ใด ถ้าหากไม่ขัดกับข้อ 11 ตามที่อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม
 
6. สถาปนิกหรือบริษัทสถาปนิก ประชาสัมพันธ์ผลงานตนเองหรือบริษัทตนเองในสื่อต่างๆ ผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ?
       กรณีนี้ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าการประชาสัมพันธ์ผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือบริษัทของตนเองในสื่อต่างๆ นั้น เป็นไปในลักษณะใด ถ้ามีรูปแบบเพียงการนำเสนอประสบการณ์ ผลงานการออกแบบ และแสดงชื่อของตนเอง/ สำนักงานหรือบริษัท ตลอดจนแจ้งเพียงข้อมูลที่อยู่และสถานที่ติดต่อให้ทราบไว้ในลักษณะการนำเสนอข้อเท็จจริง นับได้ว่าไม่เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่ถือเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อนำเสนอให้รู้จักตนเองหรือบริษัทของตนเท่านั้น
แต่หากว่าสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่นำเสนอมีข้อความอื่นใดที่ชี้นำว่าผู้ประกอบวิชาชีพหรือบริษัทนั้น มีผลงานการออกแบบดีมากน้อยอย่างไร หรือมีเนื้อหาข้อความแสดงความสามารถ ความรู้ ความชำนาญทางวิชาชีพ ตลอดจนมีการแนะนำหรือนำเสนอข้อมูลในลักษณะโอ้อวดว่าบุคคลหรือบริษัทดังกล่าวมีความสามารถสูงหรือมีประสบการณ์การทำงานดีกว่าผู้อื่นอย่างไรก็ตาม จนอาจทำให้ผู้อ่านหรือผู้ที่ได้พบเห็นเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง หรือเอื้อประโยชน์ต่อการว่าจ้างทำงาน ลักษณะเช่นนี้เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพใน หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ  ข้อ11 ที่กล่าวว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ หรือจ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยประการใดๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ความรู้ ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนเองเว้นแต่การแสดงชื่อ คุณวุฒิ สาขาของวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ที่อยู่ หรือสำนักงานของผุ้ประกอบวิชาชีพนั้นเอง”  รวมทั้งยังเข้าข่ายความผิดตามหมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 22  ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โอ้อวดความรู้ความสามารถของตนจนเกินกว่าความเป็นจริงฯ”  อีกด้วย

7. ลูกค้าไม่จ่ายค่าแบบ สถาปนิกไม่ทำงานต่อ จะถูกกล่าวหาว่าละทิ้งงานหรือไม่ ?
       การพิจารณาความผิดจรรยาบรรณหรือไม่อย่างไรตามกรณีนี้ เบื้องต้นจะต้องพิจารณารายละเอียดของสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างกับสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นใดในฐานะผู้รับจ้างให้ละเอียดว่า ข้อตกลงหรือสัญญาว่าจ้างระหว่างกันเริ่มต้นเมื่อไร มีงานใดที่อยู่ในขอบเขตบริการบ้าง มีการแจ้งค่าบริการวิชาชีพเป็นจำนวนเท่าไร จะมีการชำระเงินค่าจ้างเมื่อใด อย่างไรบ้าง และมีการกล่าวถึงการปฏิบัติผิดข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายไว้ว่าอย่างไรหรือไม่ ถ้าหากเนื้อหาในข้อตกลงหรือสัญญาระบุไว้ว่า “เมื่อลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างผิดสัญญาด้วยการไม่ชำระค่าแบบหลังจากที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ทำงานให้ครบถ้วนตามข้อตกลงหรือสัญญาแต่ละขั้นตอนแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพ (สถาปนิกผู้รับจ้าง) สามารถยกเลิกสัญญาและยุติการให้บริการได้”  ผู้ประกอบวิชาชีพจึงสามารถยุติการทำงานและบอกเลิกสัญญาว่าจ้างได้ โดยการทำหนังสือแจ้งลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะตนเองจะไม่มีภาระผูกพันกับงานตามสัญญาอีกต่อไป การกระทำดังกล่าวจึงจะไม่ถือว่าเป็นความผิดทางจรรยาบรรณ 

       แต่หากไม่มีการทำข้อตกลงหรือสัญญาไว้ หรือในข้อตกลงไม่มีการระบุไว้ตามเนื้อหาข้างต้น การหยุดการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพหรือสถาปนิกยังอาจถูกกล่าวหาว่าละทิ้งงานและมีความผิดได้หากไม่มีการตกลงหาข้อยุติกันให้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพละทิ้งงานไปโดยที่ผู้ว่าจ้างยังปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างกันอย่างเป็นปกติ เช่น การชำระค่าบริการตรงตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วน หรือกรณีอื่นใดที่ไม่ขัดแย้งต่อข้อตกลงในสัญญา หากบุคคลนั้นละทิ้งงานไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรดังนี้ ย่อมถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพแน่นอนตามที่ปรากฏในข้อบังคับข้างต้นใน หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง ข้อ15 ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ละทิ้งงานที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควรนอกจากนี้สถาปนิกดังกล่าวสามารถถูกฟ้องร้องเพิ่มเติมทางคดีแพ่งและพาณิชย์ตามความผิดตามสัญญาว่าจ้างทำของได้อีกเช่นกัน

8. สถาปนิกเป็น Sales ขายสีผิดจรรยาบรรณหรือไม่?
       กรณีนี้มีความคล้ายคลึงกับกรณีศึกษา 4 เนื่องจากสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมดังกล่าวถือว่ามีอาชีพปฏิบัติเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดของผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างใดๆ หรือ Sale Representatives และมิได้ใช้สถานภาพความเป็นสถาปนิกหรือผู้ปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม ไปใช้โฆษณาหรือชักชวนให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าตนเองนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนมิได้ชี้นำข้อมูลใดๆ โดยใช้ความรู้ ความชำนาญของการเป็นสถาปนิก การประกอบอาชีพของบุคคลดังกล่าวถือได้ว่ามิได้ใช้วิชาชีพของตนเองเอื้อต่อการชี้นำข้อมูลแต่อย่างใด 

       แต่หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์เท่านั้น กรณีนี้จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะในปัจจุบันนี้ก็มี Sales หรือพนักงานขายผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นสถาปนิกอยู่มากมาย รวมทั้งในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ก็มีตัวอย่างเหล่านี้เช่นกัน เช่น เภสัชกรเป็น Sales ขายผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือวิศวกรจำนวนมากไปประกอบอาชีพเป็น Sales Representatives ขายอุปกรณ์ทางด้านวิศวกรรมต่างๆ ดังนั้นสรุปได้ว่า "การที่สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมใดประกอบอาชีพเป็น Sales ขายสีหรือแม้แต่วัสดุผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอื่นๆ จึงไม่ถือเป็นความผิดจรรยาบรรณแต่อย่างใด"

9. สถาปนิกคิดค่าแบบสูงกว่าหรือต่ำกว่ามาตรฐานของสมาคมวิชาชีพผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ?
        ข้อมูลอัตราค่าบริการวิชาชีพหรือค่าแบบตามมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ และสมาคมวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ถือว่าเป็นการนำเสนอให้ผู้ว่าจ้างได้รับทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อนการตกลงว่าจ้าง และเพื่อให้สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใดๆ ใช้เป็นแนวทางสำหรับการคิดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติวิชาชีพจากผู้ว่าจ้างเท่านั้น ดังนั้นหากว่าบุคคลใดหรือบริษัทใด จะคิดค่าแบบสูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานของสมาคมวิชาชีพของตนเองจึงเป็นความพึงพอใจร่วมกันระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ว่าจ้าง และเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงกระทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณ เพราะมาตรฐานค่าบริการวิชาชีพที่สมาคมฯ เหล่านั้นกำหนดนั้นไม่ถือเป็นกฎหรือระเบียบที่บังคับให้ต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด
 
        แต่ถ้าหากว่าในกรณีการแข่งขันประกวดราคา หรือกรณีที่บุคคลใดหรือบริษัทใดใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อลดราคาค่าบริการวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมฯ หรือไม่ก็ตาม โดยเป็นการแข่งขันเพื่อให้มีมูลค่าต่ำกว่าค่าแบบของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้ว่าจ้าง จึงจะเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามข้อบังคับฯ  ในหมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 23 ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่แสวงหางานด้วยการแข่งขันกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น โดยวิธีประกวดราคา หรือลดผลประโยชน์ สินจ้างหรือบำเหน็จรางวัล”  

        อย่างไรก็ดีการที่ผู้ประกอบวิชาชีพลดราคาลงต่ำกว่ามาตรฐานค่าแบบของสมาคมสถาปนิกสยามฯ หรือสมาคมวิชาชีพของตนเองแล้วอาจมีผลทำให้ผลงานการออกแบบไม่ได้มาตรฐานแห่งวิชาชีพ หรือทำให้ตนเองไม่สามารถทำงานได้เต็มความรับผิดชอบต่อผู้ว่าจ้าง หรือต่อสาธารณะ จะเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณได้อีกเช่นกัน ตามที่ปรากฎในข้อบังคับฯ หมวด 3 จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้างข้อ 19 ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่แสวงหาหรือตกลงรับงานโดยรับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าความเหมาะสมตามมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรม จนเป็นเหตุให้ตนไม่สามารถจะให้บริการเต็มความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ว่าจ้างของตนและต่อสาธารณะ” 

10. สถาปนิกออกแบบสถานบริการอาบ อบ นวดผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ?
กรณีนี้เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพฯ โดยชัดเจนแล้ว จะถือว่าไม่ผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพแต่อย่างใด เพราะตามเนื้อหาในข้อบังคับฯ มิได้ระบุว่าการออกแบบอาคารสถานที่ใดๆ เป็นความผิดจรรยาบรรณ และอีกกรณีหนึ่งคือหากสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใดๆ ทำการออกแบบอาคารหรือสถานบริการใดๆ ตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ถึงแม้เจ้าของอาคารจะใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการหรือให้บริการในด้านใดก็ดี กลับมีข้อขัดแย้งต่อกฎหมายหรือมีความผิดเกิดขึ้นจากกิจการดังกล่าว ผู้ออกแบบถือว่ามิได้กระทำผิดจรรยาบรรณแต่อย่างใดหากได้ออกแบบอย่างเต็มความรู้ความสามารถ เพราะถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพนั้นกระทำการไปตามขอบเขตและหลักการแห่งวิชาชีพอย่างเต็มที่แล้ว แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องแน่ใจว่าอาคารที่ตนออกแบบต้องไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายอาคารและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้ว อาคารที่มีรูปแบบการใช้งานผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม หรือขัดแย้งต่อกฎหมายบ้านเมือง เช่น สถานขายบริการทางเพศ สถานดำเนินการด้านการพนัน กฎหมายย่อมไม่อนุญาตให้เปิดกิจการเหล่านั้นได้อยู่แล้ว 
 
       อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในแง่คุณธรรม จริยธรรม หรือวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย การออกแบบอาคารสถานบริการอาบ อบ นวด หรืออาคารสถานบริการอื่นใดอาจไม่เหมาะสมเท่าใดนักโดยเฉพาะในพื้นล่อแหลม เช่น ใกล้กับโรงเรียน สถานศึกษา วัด เป็นต้น การที่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการออกแบบอาคารเพื่อใช้สอยตามความต้องการเหล่านี้ อาจถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการประกอบกิจกรรมผิดคุณธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามเนื่องจากสังคมไทยจะมีทัศนคติในเชิงลบกับธุรกิจเหล่านั้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของตนเองว่าจะตัดสินใจรับงานออกแบบอาคารในลักษณะนี้หรือไม่ในที่สุด

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น