เรื่องที่ 4
กฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพ
ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2545 หมวดที่ 1 จรรยาบรรณต่อสาธารณะ ข้อที่ 1 ได้กล่าวถึงแนวทางประกอบวิชาชีพของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไว้ว่า พึงยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ กฎหมายอาคาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด กฎหมายเหล่านี้เป็นกรอบหลักให้สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบอาคาร ดังนั้นจึงขอสรุปสาระสำคัญของกฎหมายตามเนื้อหาข้อบังคับฯ เป็นจำนวน 4 กลุ่มใหญ่ดังนี้
1) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ
2) กฎหมายควบคุมอาคาร
3) กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
4) กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
1) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ
พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแล ผู้ปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยตรง สถาปนิกทุกสาขาจึงต้องทำการศึกษา และปฏิบัติตามสิทธิ และหน้าที่ที่กำหนดไว้ หากสถาปนิกคนใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าเป็นความผิด โดยมีการพิจารณาลงโทษตามความผิดตั้งแต่ระดับ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ ไปจนถึงการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ในพระราชบัญญัตินี้ยังได้พูดถึงสิทธิและหน้าที่ในการเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก ซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและการดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม โดยพระราชบัญญัตินี้ยังให้อำนาจสำหรับการประกาศใช้ข้อบังคับของสภาสถาปนิกในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติวิชาชีพใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ดังนั้นผู้ปฏิบัติวิชาชีพทั้งหลายจึงจำเป็นต้องสนใจศึกษา รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
2) กฎหมายควบคุมอาคาร
พระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือกฎหมายอาคาร ถือเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมของสถาปนิกโดยตรง เพื่อให้อาคารนั้นมีมาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนดด้านเทคนิคทางช่าง เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม กฎหมายอาคารที่สำคัญได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กฎกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงข้อกำหนด หรือข้อบัญญัติต่างๆ ของท้องถิ่น รายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวจำแนกได้เป็น 3 ลำดับขั้นตามศักดิ์และสิทธิ์ของกฎหมายดังต่อไปนี้
- พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ฉบับด้วยกัน โดยเริ่มต้นจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างในเขตเพลิงไหม้ ให้เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน และยังถือว่าเป็นกฎหมายที่มีการคำนึงถึงการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอย่างละเอียดมากขึ้น ต่อมามีการประกาศพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติควบคุมอาคารที่ได้ประกาศใช้มาก่อนหน้านี้ให้เหมาะสมมากขึ้น และฉบับสุดท้ายคือพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 เพื่อปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารที่ใช้บังคับอยู่ให้เหมาะสม โดยเพิ่มหลักการเกี่ยวกับอนุญาตให้ใช้โรงมหรสพมารวมอยู่ในเรื่องเดียวกันกับการควบคุมอาคาร และได้กำหนดให้สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อขนส่งบุคคลเช่น กระเช้าไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เครื่องเล่นในสวนสนุกมารวมอยู่ในการควบคุมอาคารด้วยเช่นกัน
- กฎกระทรวง
เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายใต้กฎหมายอาคาร และกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอื่นๆ โดยมักประกาศใช้ภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฉบับต่างๆ (ตั้งแต่ฉบับที่ 1-3) เป็นสำคัญ กฎกระทรวงถือเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสถาปนิกผู้ออกแบบมากที่สุด เนื่องจากมีเนื้อความอธิบายแยกย่อยเป็นประเด็นชัดเจนถึงรายละเอียดในการออกแบบอาคารเพิ่มเติมจากกรอบและหลักการในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2533) ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการออกแบบอาคารและรายละเอียดอุปกรณ์เพื่อป้องกันอัคคีภัยเป็นเนื้อหาหลัก เป็นต้น สำหรับกฎกระทรวงฉบับอื่นๆ จะมีเนื้อหาเน้นเฉพาะเรื่องราวทางการออกแบบอาคารที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงถือได้ว่ากฎกระทรวงเป็นสิ่งที่สถาปนิกจะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดและติดตามการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ใช้ประกอบการทำงานได้อย่างถูกต้อง
- ข้อบัญญัติท้องถิ่น
ข้อบัญญัติท้องถิ่นจะมีเนื้อหาอธิบายลงลึกถึงแนวทางการออกแบบอาคาร ระยะร่น และส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบซึ่งจำเพาะเจาะจงกับท้องถิ่น ดังนั้นข้อบัญญัติท้องถิ่นจะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เฉพาะพื้นที่ปกครองนั้นๆ เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543 จะบังคับใช้ได้เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ไม่บังคับใช้ในท้องถิ่นอื่น ในปัจจุบันข้อบัญญัติท้องถิ่นเมื่อรวมกับกฎกระทรวงก็ยิ่งมีจำนวนมาก และทางหน่วยงานท้องถิ่นมักมีการออกข้อกำหนดประเภทนี้อย่างสม่ำเสมอ สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพจึงไม่ควรศึกษาข้อมูลเพียงจากหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด หรือข้อกฎหมายเพียงแหล่งข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งควรมีการติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายของตนเองมีความทันสมัยอยู่เสมอ
3) กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ผลงานทางสถาปัตยกรรมเกิดจากการให้บริการทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแห่งวิชาชีพ (พระราชบัญญัติสถาปนิก) และกฎหมายอาคาร การทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพจึงมีผลเกี่ยวเนื่องโดยตรงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้าและประชาชน หากผู้ใดแอบอ้างคุณสมบัติหรือปฏิบัติงานเกินอำนาจหน้าที่ที่มีตามที่กฎหมายวิชาชีพระบุไว้ เช่น ไม่มีใบอนุญาตปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม หรือปฏิบัติงานเกินระดับใบอนุญาต จะมีความผิดทางอาญามีโทษทั้งจำและปรับ นอกจากนี้หากการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพหากก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตบทลงโทษจะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายจะเข้าข่าย “สัญญาจ้างทำของ” หากคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจะกลายความผิดฐานละเมิดในทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
เพิ่มเติมขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นหากงานที่ผู้ประกอบวิชาชีพรับผิดชอบเกิดข้อผิดพลาดหรือมีความคลาดเคลื่อนทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการหรืออื่นใดเพิ่มมากขึ้น และมีผู้เสียหายเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เจ้าของงานอาจเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากงานผิดพลาดเหล่านั้นจากผู้ประกอบวิชาชีพได้เช่นกัน
วิธีการแก้ไขหรือลดความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ประกอบวิชาชีพจึงต้องปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพหรือหลักปฏิบัติงานวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือตามข้อตกลงสัญญาที่มีต่อเจ้าของงาน รวมทั้งต้องศึกษาและทำความเข้าใจว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าอย่างไร ผู้ประกอบวิชาชีพจึงจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องสัญญาและความรับผิดชอบค่าชดใช้ต่างๆ รวมทั้งขอบเขตความเสียหายที่ตนเองพึงรับผิดชอบตามกฎหมาย แต่ในกรณีเหตุเกิดจากประมาทเลินเล่อหรือกรณีละเมิด เมื่อมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งเกิดขึ้นนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพและคู่กรณีอาจใช้วิธีการวินิจฉัยตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ หรือการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมได้
4) กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถือได้ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อกฎหมายที่ผู้ประกอบวิชาชีพจำเป็นจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ แต่ก็ยังมีกฎหมายอีกมากมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย (ศึกษารายละเอียดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้จากหนังสือประมวลกฎหมายอาคาร ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์) ได้แก่
- พระราชบัญญัติการผังเมือง ถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบมากที่สุดฉบับหนึ่ง โดยมีพระราชบัญญัติการผังเมืองออกมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2518 โดยกำหนดให้ทำผังเมืองรวมหรือที่รู้จักกันว่าผังสีซึ่งเป็นการกำหนดการใช้สอยพื้นที่ของเมืองเป็นส่วนๆ ตามความหนาแน่นและธุรกรรมการใช้งานอาคาร ปัจจุบันพระราชบัญญัติผังเมืองจะประกาศบังคับใช้ในจังหวัดและพื้นที่สำคัญๆ ต่างๆ เกือบทั้งประเทศ
- พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากพระราชบัญญัติจัดสรรฉบับเดิมให้ทันสมัย และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากขึ้น โดยเริ่มมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีการออกข้อกำหนดของแต่ละที่ได้เอง โดยมีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางออกข้อกำหนดกลางออกมาเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปใช้เป็นต้นแบบปฏิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีความใกล้เคียงกับของกรุงเทพมหานคร
- พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบ คือ ข้อกำหนดพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบางจังหวัด และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประเภทอาคารที่มีการกำหนดไว้ตามกฎหมาย
- ประกาศกระทรวงคมนาคม เช่น เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยพื้นที่เหล่านี้จะมีการจำกัดความสูงของอาคารไว้ตามแนวทางการขึ้น-ลงของเครื่องบิน ในปัจจุบันเขตเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากการขยายตัวและปรับปรุงศักยภาพการใช้งานของสนามบินในประเทศไทย
- พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของข้อกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างในที่ดินริมเขตทางหลวง ทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัด
- กฎหมายอาคารตามประเภทอาคารหรือประเภทการใช้สอย โดยจะมีพระราชบัญญัติรองรับประเภทอาคารต่างๆ ไว้เฉพาะซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการในเรื่องอื่นๆ แต่ก็มีอาคารบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบ้าง เช่น พระราชบัญญัติอาคารชุด พระราชบัญญัติโรงแรม พระราชบัญญัติสถานบริการ และพระราชบัญญัติโรงงาน เป็นต้น
- พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดชนิดอาคารที่ต้องควบคุมการใช้พลังงาน และกำหนดมาตรการในการกำกับ ดูแล ส่งเสริมและช่วยเหลือเกี่ยวกับการใช้พลังงานการตรวจสอบและวิเคราะห์ใช้พลังงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนการใช้พลังงานและอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ฯลฯ
กรณีผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมใด กระทำผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติจนถึงข้อบัญญัติท้องถิ่น และรวมไปถึงกฎหมายแพ่งและอาญาในกรณีต่างๆ นอกจากจะมีบทลงโทษตามกฎหมายนั้นๆ แล้ว ซึ่งถือเป็นการพิจารณาโทษฐานทำความผิดต่อแผ่นดินและผิดต่อคู่กรณีแล้ว ตามเนื้อหาข้อบังคับฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2545) ยังอาจได้รับการพิจารณาโทษในกรณีความผิดจรรยาบรรณอันเนื่องมาจากการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ดังกล่าวแล้วในฐานหมวดกระทำความผิดต่อสาธารณะอีกด้วย
(ที่มา : คู่มือสถาปนิก พ.ศ. 2547 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น