เรื่องที่ 8
คดีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ผู้ปฏิบัติวิชาชีพมักกระทำผิดเสมอ
จากการประมวลข้อกล่าวหาคดีจรรยาบรรณ จากคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาจนปัจจุบัน พบว่าคดีที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด มักเป็นการกระทำความผิดที่ผู้ประกอบวิชาชีพคือสถาปนิก เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือน โดยเป็นข้อกล่าวหามักเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่เขตหรือเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบกระบวนการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร แจ้งร้องเรียนว่าสถาปนิกในฐานะผู้ควบคุมงานก่อสร้างมิได้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามรูปแบบที่ได้รับอนุญาตเป็นสำคัญ โดยแต่ละสำนวนคดีหรือข้อกล่าวหาจะมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป จึงประมวลรวมข้อความผิดหรือข้อกล่าวหาจากการกระทำผิดของสถาปนิกในการควบคุมงานก่อสร้างที่มาเป็นกรณีศึกษาไว้ 5 ลักษณะดังนี้
1. การลงนามควบคุมงานก่อสร้างโดยไม่ตั้งใจ
ข้อกล่าวหาตามกรณีนี้เป็นเรื่องราวที่พบเสมอในวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม เริ่มต้นจากการที่สถาปนิกในฐานะผู้ออกแบบได้ดำเนินการออกแบบอาคารจนแล้ว เสร็จ ถูกขอร้องจากผู้ว่าจ้างให้ลงนามในเอกสารขออนุญาตปลูกสร้างอาคารเพื่อควบคุม งานก่อสร้างให้ไปก่อน จนเมื่อประมูลราคาได้ผู้รับเหมาแล้วจะเปลี่ยนแปลงผู้ควบคุมงานให้ภายหลัง เนื่องจากตามข้อกำหนดตามกฎหมายอาคารของทางกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขตจะระบุว่าในเอกสารประกอบการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต้องมีผู้ควบคุมงานทั้ง สถาปนิกและวิศวกรลงนาม
ตามกรณีนี้เป็นความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจหรือไม่ได้ เจตนา แต่เป็นเพราะความประมาท เลินเล่อดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนสถาปนิกทุกท่านไว้ว่าเมื่อออกแบบแล้ว หากได้ลงนามควบคุมงานก่อสร้างให้ทางผู้ว่าจ้างไปเป็นการชั่วคราวแล้ว ควรจะตรวจสอบข้อมูลอยู่เสมอว่าอาคารดังกล่าวเริ่มต้นการก่อสร้างหรือไม่ เพื่อตนเองจะได้แจ้งผู้รับเหมาก่อสร้างให้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ควบคุมงานให้ ถูกต้อง หรือเพื่อความแน่ใจหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารแล้ว ให้ท่านทำหนังสือถึงสำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครเพื่อแจ้งบอกเลิกหรือเพิก ถอนชื่อของท่านจากการคุมงานก่อสร้างทันทีตามแบบฟอร์มของราชการ พร้อมแจ้งเป็นทางการให้เจ้าของโครงการหรือผู้ว่าจ้างดำเนินการจัดหาผู้คุม งานก่อสร้างใหม่เสียให้ถูกต้อง และประเด็นสำคัญคือ ต้องจัดเก็บสำเนาเอกสารเหล่านี้ไว้ให้ครบถ้วนเพื่อการตรวจสอบยืนยันในกรณี ที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อเป็นเช่นนั้นสถาปนิกคนดังกล่าวได้ลงชื่อให้โดยมิได้ให้ความสนใจติดตามผล จนเมื่อถึงขั้นตอนการก่อสร้างสถาปนิกนั้นกลับมิได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล เพราะมิได้คาดคิดว่าตนเองต้องไปควบคุมงานก่อสร้าง อีกทั้งผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้างก็มิได้สนใจเปลี่ยนแปลงผู้ควบคุมงานให้ตามที่แจ้งไว้แต่แรกด้วยเหตุผลใดก็ตาม จากนั้นระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างหรือเจ้าของอาคารอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือต่อเติมอาคารจนผิดไปจากแบบขออนุญาตเดิม เมื่อเจ้าพนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครไปตรวจสอบพบจึงทำเรื่องร้องเรียนมาตามหน้าที่และข้อกฎหมาย
"บทลงโทษของคดีกรณีนี้จะเป็นขั้นลหุโทษ คือว่ากล่าวตักเตือนผู้นั้นมิให้กระทำผิดอีก เพราะเป็นการประมาท เลินเล่อ ไม่มีเจตจำนงในการทำความผิด"
2. การลงนามควบคุมงานก่อสร้างโดยตั้งใจ แต่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง
กรณีนี้จะแตกต่างจากข้อแรกตรงที่ สถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมใด ตั้งใจลงนามควบคุมงานก่อสร้างและตกลงสัญญารับค่าจ้างเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างจริงให้กับผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ตนเองมิได้ทำหน้าที่ควบคุมงานให้ถูกต้องตามมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพที่ดี หรือมิได้เข้าตรวจสอบกำกับดูแลการก่อสร้างแต่อย่างใดเลย โดยรับแต่เพียงค่าจ้างเพียงอย่างเดียว ตามกรณีนี้นอกจากสถาปนิกจะถูกร้องเรียนจากผู้ว่าจ้างว่ามิได้ปฏิบัติหน้าที่ดวยความตั้งใจและเต็มความสามารถตามมาตรฐานอย่างถูกตองแล้ว นอกจากนี้หากอาคารดังกล่าวมีการก่อสร้างผิดแบบโดยที่ตนเองมิได้รับรู้ เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลอย่างถูกต้อง ยังสามารถถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าวหาว่าปฏิบัติงานควบคุมการก่อสร้างอย่างไม่ถูกต้องตามแบบและข้อกฎหมายได้อีกด้วย
"กรณีนี้ถือว่าสถาปนิกดังกล่าวกระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพฐานมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตน ซึ่งถือว่ามีระดับโทษรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นบทลงโทษจะเป็นขั้นภาคทัณฑ์หรือพักใช้ใบอนุญาตชั่วคราวมากหรือน้อย ตามเจตนาแห่งการกระทำความผิด"
3. การควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ผิดแบบแต่มีการแจ้งเตือนแล้ว
กรณีนี้เกิดจากสถาปนิกได้รับตกลงว่าจ้างจากเจ้าของหรือผู้รับเหมาก่อสร้างให้ควบคุมงานก่อสร้างตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพและข้อกฎหมาย ระหว่างการก่อสร้างสถาปนิกดังกล่าวได้รับทราบว่าผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือเจ้าของอาคารได้แก้ไขต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงแบบให้ผิดไปจากเดิมที่ได้รับใบอนุญาตไว้ ซึ่งมีผลทำให้อาคารไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร จึงทำหนังสือแจ้งเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาก่อสร้างให้ปรับแก้ไขการต่อเติมให้ถูกต้องตามแบบ รวมทั้งแจ้งต่อราชการคือสำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครไว้เป็นหลักฐาน แต่เจ้าของหรือผู้รับเหมาก่อสร้างยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการตามคำขอ ต่อจากนั้นสถาปนิกดังกล่าวจึงได้จัดทำหนังสือแจ้งต่อราชการว่าขอถอนชื่อจากการควบคุมงานก่อสร้างตามสาเหตุดังกล่าวแล้ว ต่อมาเกิดข้อร้องเรียนจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขึ้น และคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ตรวจสอบหลักฐานพบว่าสถาปนิกผู้ถูกกล่าวหานั้นได้ดำเนินการแจ้งเตือนและแจ้งถอนชื่อของตนอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว
"กรณีคำร้องตามกรณีดังกล่าวนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาวินิจฉัยยกข้อกล่าวหาหรือยกฟ้อง โดยถือว่าสถาปนิกผู้ถูกกล่าวหานั้นไม่มีความผิดแต่อย่างใด"
4. การควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ผิดแบบหรือข้อกฎหมาย และลงนามแก้ไขงานที่มิได้กระทำ
กรณีนี้เกิดขึ้นจากสถาปนิกนั้นลงนามเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารใดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์คล้ายคลึงกับกรณีที่ 1 หรือด้วยความตั้งใจโดยมีค่าตอบแทนตามกรณีที่ 2 โดยมิได้กำกับดูแลควบคุมงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดี และเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างถูกต้องด้วยสาเหตุใดก็ตาม ภายหลังระหว่างการก่อสร้างหรือเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ตรวจสอบพบว่าอาคารมีการต่อเติมผิดไปจากแบบและข้อกฎหมาย สถาปนิกคนดังกล่าวจึงแจ้งให้ทางเจ้าของหรือผู้ว่าจ้างทราบว่าได้กระทำผิดไปจากแบบเดิม ต่อมาเจ้าของอาคารนำแบบไปจ้างวานสถาปนิกอื่นทำการแก้ไขแทน และต่อมาผู้ว่าจ้างได้นำแบบชุดที่ 2 ซึ่งดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อกฎหมายแล้วมาเสนอให้สถาปนิกคนดังกล่าวลงนามโดยตนเองมิได้เป็นผู้ออกแบบเอง กรณีนี้เมื่อสอบสวนพิจารณาแล้วจะมีบทลงโทษ ความผิดแยกเป็น 2 ประเด็นคือ
1) ละทิ้งงานที่ทำโดยไม่มีเหตุอันควร
2) ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในงานที่ตนไม่ได้รับทำหรือตรวจสอบ ควบคุมด้วยตนเอง
"กรณีศึกษาตามคดีความผิดนี้ มีบทลงโทษอย่างต่ำที่สุดคือภาคทัณฑ์สถาปนิกคนดังกล่าวไว้เป็นเวลา 2 ปี"
5. การรับจ้างลงนามในแบบอาคารหรืองานที่ตนเองมิได้กระทำ
กรณีสุดท้ายแม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุมงานก่อสร้าง แต่เป็นการกระทำความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพของสถาปนิกที่มักเกิดขึ้นเสมอในแวดวงวิชาชีพจึงรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษา กรณีความผิดนี้คือ การที่สถาปนิกลงนามรับรองในแบบอาคารที่ตนเองมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งการออกแบบ และการควบคุมงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะได้รับผลตอบแทนหรือไม่ก็ตาม การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในงานที่ตนไม่ได้รับทําตรวจสอบ หรือควบคุมด้วยตนเอง” และนอกจากนี้การกระทำความผิดดังกล่าวนี้ของสถาปนิกยังอาจเข้าข่ายการกระทําอันอาจนํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นการกระทำที่เห็นแก่ผลตอบแทนเป็นอามิสสินจ้างมากกว่าความถูกต้องในหลักการปฏิบัติวิชาชีพ
"บทลงโทษตามกรณีนี้ถือว่าจัดอยู่ในระดับโทษรุนแรง คณะกรรมการจรรยาบรรณจึงสามารถวินิจฉัยลงโทษได้ในระดับขั้นพักใช้ใบอนุญาตเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปโดยมีระยะเวลาขึ้นกับผลและเจตนาแห่งการกระทำความผิด"
ทั้งนี้จากข้อมูลการพิจารณาคดีจรรยาบรรณของคณะกรรมการจรรยาบรรณ วาระปัจจุบัน (50-53) พบว่า นอกเหนือจากข้อร้องเรียนการกระทำผิดที่พบบ่อยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปนิกยังมีโอกาสถูกร้องเรียนหรือได้รับคำกล่าวหาจากการปฏิบัติวิชาชีพตามขอบเขตการให้บริการจากตัวลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างอีกหลายลักษณะ อันเป็นผลมาจากการทำงาน การให้บริการของตัวสถาปนิกเอง ความรู้ของลูกค้าและสังคมสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงความไม่เข้าใจรูปแบบ วิธีการ ความรับผิดชอบและขอบเขตการให้บริการที่แท้จริงของสถาปนิกเองก็ตาม ทั้งนี้ความจริงแล้วความบกพร่องดังกล่าวมิใช่ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของสถาปนิกแต่อย่างใด ในปัจจุบันข้อร้องเรียนการกระทำความผิดจรรยาบรรณของสถาปนิกที่พบเพิ่มมากขึ้นมีประเด็นดังต่อไปนี้
1) การออกแบบและก่อสร้างอาคารไม่ถูกต้องตามกฎหมายอาคารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2) การก่อสร้างอาคารไม่ตรงกับแบบที่ได้รับใบอนุญาต
3) การใช้วัสดุประกอบอาคารไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่กำหนดไว้ในรายการประกอบแบบ
4) การออกแบบอาคารเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้
5) การก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางการก่อสร้าง
6) การควบคุมงานก่อสร้างที่ไม่เรียบร้อยและประณีตตามความต้องการของลูกค้า
7) ฯลฯ
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายควรให้ความสำคัญและใส่ใจกับเอกสารข้อตกลงว่าจ้างการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นว่าตนเองต้องปฏิบัติงานและส่งมอบงานในลักษณะใดให้ลูกค้าบ้าง ไปจนถึงการออกแบบอาคารให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพ การควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักวิชา ตลอดจนการประสานทำความเข้าใจระหว่างตนเอง ผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาก่อสร้างให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอีกด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น