บทที่ 7
การเตรียมตัวเมื่อถูกกล่าวหาคดีจรรยาบรรณ
และการขออุทรณ์ลดโทษ
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพถูกกล่าวหาความผิดคดีจรรยาบรรณ ทางสภาสถาปนิกโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณ หรือผู้ได้รับมอบหมายจะส่งคำกล่าวหาที่จะทำการสอบสวนไปยังสถาปนิกที่ถูกกล่าวหาตามที่อยู่ของสำนักงานหรือภูมิลำเนาตามปรากฏในทะเบียนสมาชิกทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยคำกล่าวหาดังกล่าวหาจะประกอบด้วยข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้
1) สำเนาคำกล่าวหา ประกอบด้วย
ก. ชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ผู้กล่าวหา
ข. ข้อกล่าวหา
ค. วัน/ เวลาที่พบเห็นเหตุการณ์
ง. สถานที่เกิดเหตุ
จ. วัตถุประสงค์ของการกล่าวหา
ฉ. ลายมือชื่อของผู้กล่าวหา
2) กำหนดวัน เวลาที่จะยื่นคำชี้แจงหรือคำให้การ
3) สถานที่ที่ทำการสอบสวน
ถ้าหากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักฐานแก้ต่างนั้นครบถ้วน และชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดหรือการกระทำไม่เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะแจ้งเสนอคณะกรรมการจรรยาบรรณให้ยกเลิกข้อกล่าวหา แต่ถ้าข้อมูลหลักฐานยังไม่ครบถ้วนหรือบ่งชี้ว่าเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะเสนอให้คณะกรรมการจรรยาบรรณแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนต่อไป อนึ่ง หากคำกล่าวหาใดๆ ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสอบสวน และสภาสถาปนิกไม่สามารถสืบหาพยานหลักฐานได้ภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ได้เรื่อง ประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณจะแจ้งจำหน่ายข้อกล่าวหานั้นต่อเลขาธิการสภาสถาปนิกเพื่อพิจารณาต่อไป
เมื่อตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนเรียบร้อย ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับเอกสารที่ปรากฏข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเพื่อนัดหมายการชี้แจงข้อกล่าวหา หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาจะต้องประสานงานกับคณะอนุกรรมการสอบสวนตามคำกล่าวหานั้น ว่าควรเตรียมตัวอย่างไร ต้องจัดเตรียมเอกสารใดเพื่อใช้ประกอบคำชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการสอบสวน สำหรับสิ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องเตรียมพร้อมให้ครบถ้วนมากที่สุดก็คือหลักฐาน เอกสารที่ชัดเจนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง รวมทั้งพยานบุคคล (หากมี) เพื่อช่วยให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง
อย่างไรก็ตามเมื่อหลักฐานพยานถูกส่งมายังคณะอนุกรรมการสอบสวนเบื้องต้นแล้ว คณะอนุกรรมการฯ มีสิทธิเรียกตัวผู้ถูกกล่าวหามาให้ปากคำชี้แจงได้ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสามารถนัดหมายเวลาที่สะดวกในการชี้แจงหรือให้ถ้อยคำได้ พร้อมกับจัดเตรียมหลักฐานหรือพยานเพิ่มเติมที่ทางคณะอนุกรรมการสอบสวนต้องการ พร้อมกับให้ความร่วมมือต่อคณะอนุกรรมการฯ ในการนัดหมายให้ถ้อยคำหรือชี้แจง จึงจะทำให้การวินิจฉัยเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์และรวดเร็วต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ถูกกล่าวหาเอง
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมทุกคนต้องแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลและสถานที่ติดต่อของตนเองให้ตรงกับความเป็นจริงอยู่เสมอ รวมทั้งต้องเร่งแจ้งแก้ไขข้อมูลต่างๆ ต่อฝ่ายทะเบียนของสภาสถาปนิกทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดปัญหาจากการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและเกิดผลเสียหายต่อตัวท่านเองได้ เนื่องจากการจัดส่งเอกสารข้อกล่าวหาคดีจรรยาบรรณเหล่านี้ สภาสถาปนิกจะจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้กับท่านตามสถานที่ภูมิลำเนาที่ปรากฏในข้อมูลทะเบียนสมาชิก และจะถือว่าเอกสารเหล่านี้ได้ถูกส่งถึงมือท่านแล้วโดยปริยาย ดังนั้นเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดนัดหมายตามระเบียบข้อบังคับแล้ว หากท่านมิได้ติดต่อกับสภาสถาปนิกเพื่อดำเนินการชี้แจง หรือยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมด้วยสาเหตุจากท่านมิได้รับเอกสารหรือส่งเอกสารผิดที่ก็ตาม คณะอนุกรรมการสอบสวนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะพิจารณาคดีตามหลักฐานและเอกสารข้อกล่าวหาที่มีอยู่เดิมโดยไม่ต้องมีการให้ถ้อยคำจากตัวท่าน (ผู้ถูกกล่าวหา) ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ถูกกล่าวหาแม้แต่น้อย
นอกจากนี้สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้อง พึงระมัดระวังการปฏิบัติวิชาชีพของตนเองมิให้ผิดจรรยาบรรณอยู่เสมอ ด้วยเหตุว่าหากมีการยื่นข้อกล่าวหาต่อทางสภาสถาปนิกเพื่อดำเนินการแล้ว ตามมาตรา 51 ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ยังระบุไว้ว่าการขอถอนเรื่องหรือข้อกล่าวหาไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ก็ตามไม่เป็นเหตุให้ระงับการดำเนินการ หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าการเจรจารอมชอมเพื่อถอนเรื่องหรือถอนฟ้องเหมือนคดีแพ่งทั่วไปนั้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะตามกฎหมายแล้วคณะกรรมการจรรยาบรรณจะต้องดำเนินการสอบสวนและพิจารณาวินิจฉัยคดีจนสิ้นสุด
การขออุทธรณ์ลดโทษคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกล่าวหาถูกวินิจฉัยชี้ขาดลงโทษตามคดีความผิดจรรยาบรรณจากคณะกรรมการจรรยาบรรณแล้ว บุคคลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อสภาสถาปนิกภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยชี้ขาดจากคณะกรรมการสภาสถาปนิก โดยคำอุทธรณ์จะต้องเป็นไปตามแบบที่สภาสถาปนิกกำหนดและประกอบด้วยข้อเท็จจริง รายละเอียดโต้แย้งคำวินิจฉัย และวัตถุประสงค์ของการอุทธรณ์ ในการยื่นขออุทธรณ์นั้น ผู้ขอต้องนำเอกสารคำอุทธรณ์ไปยื่นต่อเลขาธิการสภาสถาปนิก หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในวัน เวลาทำการสำนักงานของสภาสถาปนิก หลังจากนั้นเลขาธิการสภาสถาปนิกจะนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณาคดีอุทธรณ์สิ้นสุดแล้วจะตัดสินวินิจฉัยอีกครั้งด้วยการจัดทำเป็นคำสั่งสภาสถาปนิกพร้อมระบุเหตุผลประกอบ รวมทั้งแจ้งคำสั่งดังกล่าวต่อผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้กระบวนการพิจารณาและชี้ขาดตามขั้นตอนดังกล่าวนี้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด และผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถอุทธรณ์ได้อีกไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
อนึ่ง ผู้ถูกกล่าวหาพึงระลึกว่าการยื่นคำร้องขออุทธรณ์มิได้เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การลดโทษได้ แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการพิจารณาลดหย่อนโทษหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับหลักฐานพยานที่นำมาชี้แจงหรือเสนอเพิ่มเติมเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกพิจารณาวินิจฉัยลงโทษไปแล้วในระดับความผิดรุนแรง อันเนื่องจากเอกสารหลักฐานหรือพยานไม่ครบถ้วนจึงเป็นเหตุชี้นำให้คณะกรรมการฯ ตัดสินไปในลักษณะดังกล่าวซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ถูกกล่าวหา แต่หากในการอุทธรณ์ หลักฐานที่นำมาเสนอเพิ่มเติมในภายหลังสามารถชี้ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยเดิมเป็นการพิจารณาที่ยังไม่ครบถ้วนเนื่องจากขาดข้อมูลประกอบเพียงพอ คณะกรรมการจรรยาบรรณสามารถทบทวนและปรับคำวินิจฉัยใหม่เพื่อลดหย่อนโทษได้ แต่ในทางกลับกัน หากในกระบวนการพิจารณาคำอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้จัดส่งเอกสาร หลักฐานหรือสอบพยานเพิ่มเติมต่างๆ แล้ว หลักฐานกลับบ่งชี้ว่าสถาปนิกผู้ถูกกล่าวหามีเหตุแห่งความผิดยิ่งขึ้นและสมควรได้รับโทษเพิ่ม คณะกรรมการจรรยาบรรณสามารถตัดสินวินิจฉัยลงโทษผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมอีกได้เช่นกัน
นอกจากนี้ประเด็นสำคัญคือการตัดสินวินิจฉัยครั้งนี้จะถือเป็นสิ้นสุดซึ่งผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถยื่นขออุทธรณ์ได้อีกต่อไป ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาควรพิจารณาตรวจสอบหลักฐานให้ถี่ถ้วน และแน่ใจว่าหลักฐานต่างๆ จะเป็นประโยชน์และชี้นำให้ผลการพิจารณาเป็นไปในทางบวกต่อตนเอง มิฉะนั้นแล้วหากถูกวินิจฉัยชี้ขาดให้รับโทษในระดับสูงขึ้นในกระบวนการอุทธรณ์ จะไม่สามารถทำการแก้ไขใดๆ ได้อีก นอกจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยโดยไม่บิดพลิ้ว จากตัวอย่างทั้งสองกรณีอาจกล่าวได้ว่าการยื่นอุทธรณ์นั้น ผู้ถูกกล่าวหาอาจจะได้รับโทษเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับหลักฐานพยานที่จัดเตรียมมาเสนอประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมเป็นสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น