เรื่องที่ 6
ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคดีจรรยาบรรณ
การพิจารณาคดีความผิดจรรยาบรรณของคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิก จะมีอำนาจหน้าที่และขั้นตอนเป็นไปตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพักใช้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2544 ซึ่งระบุรายละเอียดและขั้นตอนพิจารณาคดีจรรยาบรรณไว้อย่างครบถ้วน ข้อบังคับฉบับดังกล่าวนี้จะกล่าวมีเนื้อหาทั้งสิ้น 6 หมวด โดยในแต่ละหมวดจะชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีจรรยาบรรณจนสิ้นสุด โดยเริ่มต้นจาก
1. หมวดที่ 1 คณะอนุกรรมการจรรยาบรรณ จะอธิบายถึงที่มาและคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณชุดต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณจะแต่งตั้งมาสนับสนุนการทำงานต่างๆ
2. หมวดที่ 2 คำกล่าวหาและคำให้การ จะอธิบายถึงรายละเอียดคำกล่าวหา และขั้นตอนการกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่กระทำความผิด
3. หมวดที่ 3 การสอบสวนและความเห็นของคณะอนุกรรมการ จะอธิบายถึงรายละเอียดขั้นตอนการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาและการทำความเห็นของคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะสรุปเป็นข้อมูลนำเสนอแนวทางวินิจฉัยต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณต่อไป
4. หมวดที่ 4 การวินิจฉัยชี้ขาด จะอธิบายถึงแนวทางการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการจรรยาบรรณตามกฎหมาย ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการกรณีพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดถึงขั้นพักใช้ใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาโทษอีกด้วย
5. หมวดที่ 5 การอุทธรณ์ จะอธิบายสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอุทธรณ์คดีจรรยาบรรณหลังการวินิจฉัยชี้ขาด ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการของสภาสถาปนิกระหว่างการอุทธรณ์จนสิ้นสุด
6. หมวดที่ 6 การบังคับตามคำสั่ง จะอธิบายถึงวิธีปฏิบัติตนของสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตว่าต้องทำอย่างไร เมื่อใดบ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ในวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณชุด พ.ศ. 2547-50 ได้จัดทำระเบียบประกอบการพิจารณาคดีจรรยาบรรณเพิ่มขึ้น 1 ฉบับคือ ระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิกว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2547 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 เพื่อให้คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการจรรยาบรรณทั้งสองชุดคือ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการสอบสวนได้ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาและสอบสวนคดีโดยละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ระเบียบนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งสิ้น 3 หมวดได้แก่
1. หมวดที่ 1 อธิบายถึงการรับคำกล่าวหา
2. หมวดที่ 2 อธิบายถึงขั้นตอนและวิธีพิจารณาการสอบสวน
3. หมวดที่ 3 อธิบายถึงการวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อบังคับที่กล่าวถึงข้างต้นและระเบียบฯ รวม 2 ฉบับนี้เป็นข้อมูลและเอกสารสำคัญที่สถาปนิกและผู้สนใจควรศึกษาทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่อย่างไรก็ดีในที่นี้จะขออธิบายสรุปขั้นตอนในการดำเนินการพิจารณาคดีจรรยาบรรณไว้พอสังเขปดังต่อไปนี้
1. กระบวนการกล่าวหาความผิดจรรยาบรรณ
เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือผู้กล่าวโทษ ซึ่งได้แก่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหาย หรือบุคคลซึ่งได้พบการกระทำผิดจรรยาบรรณ กรรมการสภาสถาปนิก รวมทั้งบุคคลอื่นใดก็ดีพบความผิดหรือเกิดความเสียหาย ตามระเบียบกำหนดให้บุคคลนั้นจัดทำคำร้องเป็นหนังสือพร้อมลายมือชื่อและหลักฐานพยาน แจ้งให้เลขาธิการสภาสถาปนิกทราบ เลขาธิการสภาสถาปนิกจะดำเนินการพิจารณาข้อกล่าวหา ถ้าข้อกล่าวหานั้นไม่ครบถ้วน ไม่มีลายมือชื่อ หรือเป็นการกล่าวหาในลักษณะบัตรสนเท่ห์ ก็จะไม่มีการดำเนินการต่อไป (ผังแสดงขั้นตอนฯ รูปที่ 1)
2. กระบวนการกลั่นกรองข้อกล่าวหา
ถ้าหากเอกสารคำร้องดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามระเบียบดังกล่าวแล้ว เลขาธิการสภาสถาปนิกจะเร่งส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการจรรยาบรรณ เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณได้รับเรื่องจะเสนอเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าข้อกล่าวหานั้นมีความถูกต้องชัดเจน และมีมูลความผิดหรือไม่ เมื่อตรวจสอบคำกล่าวหาแล้วพบว่าเข้าข่ายประพฤติผิด และมีเอกสารหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริงตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะเสนอให้คณะกรรมการจรรยาบรรณตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนขึ้น พร้อมกับส่งสำเนาคำกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการชี้แจงคำกล่าวหาต่อไป (ผังแสดงขั้นตอนฯ รูปที่ 2)
3. กระบวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน
ในเวลาเดียวกันคณะกรรมการจรรยาบรรณจะเสนอตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนโดยให้ประธานคณะกรรมการจรรยาบรรณลงนามในคำสั่ง แล้วจึงทำการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบคำสั่งพร้อมกับข้อกล่าวหาต่อไป องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับฯ จะประกอบด้วย คณะกรรมการจรรยาบรรณ 1 ท่าน และสถาปนิกในสาขาเดียวกันซึ่งมีวุฒิมากกว่าหรืออาวุโสกว่าผู้ถูกร้องเรียน 2 ท่าน ในการเสนอรายนามเพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนนั้น ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อทราบข้อกล่าวหาและรายนามคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้ว สามารถทำคำคัดค้านการแต่งตั้งอนุกรรมการสอบสวนในกรณีที่เห็นว่าจะไม่ได้ความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ภายใน 15 วัน แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ มีสิทธิพิจารณาเปลี่ยนแปลงตัวอนุกรรมการให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ก็ได้ โดยอาจพิจารณายกคำคัดค้านนั้นเสียหากตรวจสอบแล้วไม่มีเหตุอันสมควรในการเปลี่ยนแปลง
4. กระบวนการสอบสวน
ถ้าหากผู้ถูกกล่าวหาไม่การคัดค้านรายนามอนุกรรมการที่มีการเสนอแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนและระเบียบต่อไป ระหว่างการสอบสวนนั้นผู้ถูกกล่าวหาต้องส่งเอกสารต่างๆ ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ต้องการเพื่อแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา คณะอนุกรรมการสอบสวนจะเร่งดำเนินการสอบสวนแต่ละคดีให้เสร็จสิ้นใน 60 วัน แต่หากไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงได้เนื่องจากว่ายังมีหลักฐานข้อมูล หรือหลักฐานพยานไม่ครบถ้วนจะสามารถขยายเวลาได้อีก 60 วัน แต่การขยายเวลานั้นสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้งหรือ 120 วัน เมื่อคณะอนุกรรมการสอบสวนจนได้ข้อเท็จจริงแล้ว จะเสนอผลการพิจารณาและแนวทางวินิจฉัยกลับไปยังคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป อนึ่งในขั้นตอนกระบวนการสอบสวนนี้ ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถร้องขอแต่งตั้งทนายแก้ต่างคดีซึ่งต่างจากการพิจารณาคดีความในชั้นศาลทั่วไป (ผังแสดงขั้นตอนฯ รูปที่ 3)
5. กระบวนการวินิจฉัยชี้ขาด
เมื่อได้รับผลการพิจารณา คณะกรรมการจรรยาบรรณจะตรวจสอบข้อพิจารณา พร้อมกับหลักฐานเอกสารประกอบอื่นๆ ตามสำนวนของคณะอนุกรรมการสอบสวนว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริงหรือไม่เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาด แต่หากข้อมูลหรือหลักฐานที่คณะอนุกรรมการสอบสวนแสดงต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณยังไม่ชัดเจน ครบถ้วน คณะกรรมการจรรยาบรรณสามารถมอบหมายให้คณะอนุกรรมการสอบสวนกลับไปทบทวน และทำข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้ เมื่อข้อมูลหลักฐานพยานต่างๆ ครบถ้วน เพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ คณะกรรมการจรรยาบรรณก็จะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรในที่สุด สำหรับคำวินิจฉัยกรณีผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดคณะกรรมการจรรยาบรรณจะแจ้งยกเลิกคำกล่าวหาหรือยกฟ้อง แต่กรณีมีความผิดตามข้อกล่าวหา จะมีโทษผิดจรรยาบรรณตามกฎหมายทั้งสิ้น 4 สถานด้วยกันคือ
1. ตักเตือน
2. ภาคทัณฑ์
3. พักใช้ใบอนุญาต ซึ่งไม่เกิน 5 ปี
4. ยกเลิกใบอนุญาต
6. กระบวนการอุทธรณ์
คณะกรรมการจรรยาบรรณเมื่อตัดสินวินิจฉัยคดีตามข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว จะมีหนังสือถึงเลขาธิการสภาสถาปนิกเพื่อแจ้งผลการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อเลขาธิการสภาสถาปนิกได้รับข้อมูลดังกล่าวหรือคำวินิจฉัยดังกล่าว จะแจ้งผลหรือคำสั่งพร้อมสิทธิในการอุทธรณ์ไปยังผู้ถูกกล่าวหาทางไปรษณีย์ลงทะเบียน รวมทั้งแจ้งข้อมูลให้ฝ่ายทะเบียนของสภาสถาปนิกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับทราบผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณแล้วสามารถยื่นคำขออุทธรณ์ต่อสภาสถาปนิกได้หากต้องการ แต่ในการยื่นคำร้องขออุทธรณ์นั้นต้องไม่เกินระยะเวลา 30 วันนับจากได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย เมื่อเลขาธิการสภาสถาปนิกได้รับคำอุทธรณ์จากผู้ถูกกล่าวหาจะเสนอเรื่องเพื่อแจ้งให้คณะกรรมการจรรยาบรรณทบทวนหรือตรวจสอบคำวินิจฉัย หรือนำกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้งต่อไป ในหลักปฏิบัติปัจจุบัน คณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกทั้งคณะจะมีวาระประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่กลั่นกรองหรือสอบสวนนั้นจะดำเนินการประชุมขึ้นตามความเหมาะสมของจำนวนคดีและความพร้อมของผู้เกี่ยวข้องเป็นหลัก (ผังแสดงขั้นตอนฯ รูปที่ 4)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญข้อสงสัยที่มักพบในกระบวนการพิจารณาคดีอีกประการคือ คณะกรรมการจรรยาบรรณมีสิทธิเชิญผู้เกี่ยวข้องในคดีมาสอบปากคำหรือไม่ในฐานะพยานหรือไม่ อธิบายไว้ว่าคณะกรรมการจรรยาบรรณมีอำนาจตามกฎหมายที่จะเชิญสมาชิกสภาสถาปนิกมาสอบปากคำในกรณีที่ถูกร้องเรียน หรือเชิญมาให้ถ้อยคำในฐานะพยานได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกของสภาสถาปนิกหรือเป็นประชาชนทั่วไปนั้น คณะอนุกรรมการฯ จะต้องนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้นายกสภาพิเศษเป็นผู้อนุมัติ เมื่ออนุมัติแล้วจะสามารถจะเชิญบุคคลทั่วไปดังกล่าวมาให้ถ้อยคำประกอบการสอบสวนเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาได้ แต่อย่างไรก็ดีการสอบสวนเหล่านี้ คณะกรรมการจรรยาบรรณอาจทำหนังสือขอคำชี้แจงเป็นเอกสารจากผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้ หรือขอหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมอื่นใดจากบุคคลทั่วไปได้อีกด้วยเช่นกัน
การพิจารณาคดีจรรยาบรรณสิ้นสุดเมื่อใด
คดีจรรยาบรรณจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะคือ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและคณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนจนได้หลักฐานข้อมูลพยานชัดเจน แล้วเสนอแนวทางพิจารณาวินิจฉัยต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณซึ่งมีสองแนวทางดังกล่าวแล้ว จากนั้นเมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณได้พิจารณาหลักฐานและแนวทางวินิจฉัยอย่างชัดเจนถี่ถ้วนแล้วอาจวินิจฉัยยกข้อกล่าวหา หรือตัดสินชี้ขาดตามระดับโทษตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ จนถึงพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมสรุปผลวินิจฉัยเพื่อแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เมื่อไม่มีการร้องขออุทธรณ์จึงจะถือว่าคดีสิ้นสุด แต่หากผู้ถูกกล่าวหาร้องขออุทธรณ์ตามสิทธิของตนคณะกรรมการจรรยาบรรณจะนำเรื่องกลับมาทบทวนเพื่อกลับสู่กระบวนการสอบสวนใหม่ และพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดใหม่อีกครั้ง แล้วจึงแจ้งเป็นคำสั่งต่อผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการครั้งใหม่นี้ถือเป็นอันสิ้นสุดคดีโดยสิ้นเชิงซึ่งผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถร้องขออุทธรณ์ได้อีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น