วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องที่ 5 : ความผิดคดีและบทลงโทษคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ (Thailand Version)

เรื่องที่ 5 
ความผิดคดีและบทลงโทษคดีจรรยาบรรณวิชาชีพ 

                                                                                                      


ตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.. 2545 เมื่อพิจารณารายละเอียดโดยมุ่งเน้นที่กรณีการกระทำความผิดจากองค์ประกอบของเนื้อหาจรรยาบรรณทั้ง 4 หมวด จะพบได้ว่าการกระทำของผู้ปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณจะประกอบด้วยรูปแบบลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
 
1. การกระทำผิดจรรยาบรรณต่อสาธารณะ 
        ความผิดเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในเนื้อหาหมวดที่ 1 จรรยาบรรณต่อสาธารณะ กรณีการกระทำความผิดตามหมวดดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาในข้อบังคับจะระบุไว้ค่อนข้างกว้าง เพราะการกระทำใดที่ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.. 2543 และกฎหมาย ข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพก็ถือว่าผิดจรรยาบรรณทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การกระทำความผิดกรณีดังกล่าวนี้จะแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นหลักคือ 

1)    ประเด็นที่หนึ่งคือ ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนเมื่อปฏิบัติวิชาชีพให้บริการลูกค้าต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถาปนิกโดยเคร่งครัด
2)    ประเด็นที่สองคือ หากผู้ประกอบวิชาชีพทำงานออกแบบอาคาร บ้านเรือน ภูมิทัศน์ ออกแบบวางผังเมือง และออกแบบตกแต่งอาคารใดๆ ที่ขัดแย้งต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ หรือปฏิบัติวิชาชีพในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะจะถือว่าผิดจรรยาบรรณวิชาชีพเช่นกัน
3)    ประเด็นที่สามคือ การกระทำการใดๆ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายปกครองบ้านเมืองทั้งในเชิงอาญาและทางแพ่ง ย่อมถือว่าเป็นการกระทำความผิดจรรยาบรรณเช่นกัน

       ตัวอย่างการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในหมวดจรรยาบรรณต่อสาธารณะ มักได้แก่ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารในกรณีต่างๆ เช่น สถาปนิกเป็นผู้ควบคุมงานแล้วไม่ก่อสร้างอาคารตามแบบที่ยื่นขออนุญาตไว้ต่อราชการ การพิจารณาโทษความผิดอาจเป็นได้ตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือนไปจนถึงพักใช้ใบอนุญาตขึ้นกับเจตนาและผลแห่งการกระทำนั้น
  
2. การกระทำผิดจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ  
       ความผิดเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในเนื้อหาหมวดที่ 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ความผิดที่มักพบจากคดีจรรยาบรรณตามเนื้อหาหมวดนี้คือ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐาน และไมกระทําการใดๆ อันอาจนํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แหงวิชาชีพ รวมทั้งต้องปฏิบัติงานที่ไดรับทําดวยความตั้งใจและเต็มความสามารถตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ และด้วยความซื่อสัตยสุจริต นอกจากนี้รวมไปถึงการที่ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ยินยอมให้นำชื่อของตนไปโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือชี้นำให้ผู้บริโภคและสังคมหลงเชื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม ของตนเอง ซึ่งมักได้แก่วัสดุก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในท้องตลาดทั่วไป

         ตัวอย่างการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในหมวดนี้ มักได้แก่ การกระทำของสถาปนิกที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อตนเอง ลูกค้าและสาธารณะในกรณีต่างๆ จนเป็นเหตุให้วิชาชีพเสื่อมเสียได้ และอีกกรณีที่มักพบเช่นกัน คือการที่บริษัทเจ้าของวัสดุและผลิตภัณฑ์ก่อสร้างนำชื่อผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม คุณวุฒิ รูปภาพ หรือบทสัมภาษณ์ไปใช้ประกอบเอกสารประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งอาจชี้นำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสถาปนิกรับรองสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นได้ หรือบางกรณีสถาปนิกอาจกระทำตนเป็น Presenter ของ สินค้านั้นๆ เลยก็เป็นได้ การพิจารณาโทษความผิดในกรณีนี้อาจเป็นได้ตั้งแต่ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ไปจนถึงพักใช้ใบอนุญาตขึ้นอยู่กับเจตนาและหลักฐานเอกสารเป็นสำคัญ
   
3. การกระทำผิดจรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง (ลูกค้า)  
         ความผิดเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในเนื้อหาหมวดที่ 3 จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้างหรือลูกค้า ความผิดที่มักพบจากคดีจรรยาบรรณตามเนื้อหาหมวดนี้คือ การที่ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติวิชาชีพโดยขาดความรับผิดชอบในการให้บริการตามมาตรฐานของการทำงานและมาตรฐานแห่งวิชาชีพของตนเอง เช่น การละทิ้งงานกลางคัน และการทำงานของสถาปนิกมีความบกพร่องทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ขาดเนื้อหางานอันพึงมีและไม่เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่กำหนดไว้โดยองค์กรวิชาชีพของตนเอง

         ตัวอย่างการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในหมวดจรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง มักได้แก่ การที่สถาปนิกบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติงานตามข้อตกลงที่กระทำไว้กับลูกค้า หรือไม่ปฏิบัติงานให้ครบตามมาตรฐานวิชาชีพ ไปจนถึงหลอกลวงให้ลูกค้าหลงเชื่อว่าตนเองมีความรู้ ความสามารถทั้งที่ตนเองไม่สามารถกระทำได้ การพิจารณาโทษความผิดส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่การพักใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจนถึง 5 ปีกับเจตนาและสาเหตุแห่งการกระทำผิด


4. การกระทำผิดจรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ  
         ความผิดที่มักพบจากคดีจรรยาบรรณตามเนื้อหาหมวดดังกล่าวมักได้แก่ การแข่งขันกันรับงานจากลูกค้าอย่างผิดวิธี เช่น ลดค่าแบบแข่งกัน โอ้อวดความรู้ความสมารถของตนเอง หรือแม้แต่การใส่ร้ายสถาปนิกคนอื่น เป็นต้น

         ตัวอย่างการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในหมวดจรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพมักได้แก่ การแข่งขันกันลดค่าแบบ หรือตัดราคาค่าบริการของสถาปนิกรายอื่นเพื่อให้ตนเองได้รับงาน เป็นหลัก การพิจารณาโทษความผิดส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ การว่ากล่าวตักเตือนไปจนถึงการพักใช้ใบอนุญาต

         เมื่อสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามจรรยาบรรณวิชาชีพไม่ว่ากรณีใดก็ตาม สถาปนิกคนดังกล่าวจะถูกสอบสวนและพิจารณาโทษตามอำนาจและขั้นตอนที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และ ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.. 2544 ตามลำดับ
       การสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรม จะเริ่มต้นจากผู้เสียหาย (ผู้กล่าวหา) ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลเสียโดยตรงจากการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพคนดังกล่าว หรือเป็นผู้พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพทำการกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพนั้นเป็นเอกสารซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดตามข้อบังคับกำหนดไว้ อันได้แก่ ชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ผู้กล่าวหา/ ข้อกล่าวหา/ วันและเวลาที่พบเห็นเหตุการณ์/ สถานที่เกิดเหตุ/วัตถุประสงค์ของการกล่าวหา และลายมือชื่อของผู้กล่าวหา และนำเอกสารนั้นยื่นเรื่องต่อเลขาธิการสภาสถาปนิก ให้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป นอกจากนี้สภาสถาปนิกโดยเลขาธิการสภาสถาปนิก ยังมีอำนาจกล่าวหาและตรวจสอบสถาปนิกผู้หนึ่งผู้ใดหากกระทำผิดจรรยาบรรณเองก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามในมาตรา 51 ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.. 2543 ได้ระบุไว้ว่า สิทธิการกล่าวโทษจากกรณีใดๆ ก็ตามจะสิ้นสุดลงภายใน 1 ปีเมื่อผู้ได้รับความเสียหาย หรือผู้กล่าวโทษทราบเรื่องและรู้ตัวการกระทำผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกกล่าวหา เงื่อนเวลาดังกล่าวจึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการเตรียมเอกสารหลักฐานทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ คำวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการกระทำความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพตามมาตรา 61 ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มีอยู่ทั้งสิ้น 5 ลักษณะคือ  
1)   ยกข้อกล่าวหา เมื่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกได้พิจารณาตรวจสอบเอกสารคำกล่าวหา และทำการวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วพบว่าสถาปนิกผู้ถูกกล่าวหาไม่มีมูลความผิด หรือไม่เข้าข่ายการกระทำผิดจรรยาบรรณ คณะอนุกรรมการฯ จะสรุปเสนอแนวทางวินิจฉัยต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณให้ตัดสินวินิจฉัยยกฟ้องหริอยกข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด  เช่นเดียวกับการยกฟ้องในการพิจารณาคดีความทั่วไปในบ้านเรา
2)   ตักเตือน เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกพิจารณาสอบสวนคดีจรรยาบรรณใดแล้วเห็นว่าความผิดตามข้อกล่าวหาของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นความผิดครั้งแรกหรือสถานเบา ทางสภาสถาปนิกโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณอาจพิจารณาลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพนั้นในสถานเบาโดยการทำหนังสือแจ้งตักเตือนต่อผู้ประกอบวิชาชีพผู้นั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อมิให้ปฏิบัติเช่นนั้นอีกได้
3)   ภาคทัณฑ์ เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณวินิจฉัยชี้ขาดแล้วเห็นว่าความผิดตามข้อกล่าวหาของผู้ประกอบวิชาชีพเป็นความผิดสถานกลาง ทางสภาสถาปนิกโดยคณะกรรมการจรรยาบรรณจะทำหนังสือภาคทัณฑ์ผู้ประกอบวิชาชีพผู้กระทำความผิดภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนดเป็นภาคทัณฑ์ไว้ โดยบันทึกในทะเบียนประวัติสมาชิกและติดตามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นกระทำความผิดอีก
4)   พักใช้ใบอนุญาตชั่วคราว เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณตัดสินชี้ขาดแล้วเห็นว่าความผิดตามข้อกล่าวหาของสถาปนิกเป็นความผิดระดับรุนแรง คณะกรรมการฯ มีอำนาจตัดสินลงโทษสถาปนิกผู้กระทำความผิดด้วยการพักใช้ใบอนุญาตได้เป็นการชั่วคราวแต่มีระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ระหว่างพักใช้ใบอนุญาตสถาปนิกคนดังกล่าวจะต้องนำคืนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อสภาสถาปนิกตามระยะเวลาที่กำหนด และรวมทั้งไม่สามารถประกอบวิชาชีพ หรือแสดงตนว่าเป็นสถาปนิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่นไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 63 ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.. 2543 ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงถึงต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

5)   เพิกถอนใบอนุญาต กรณีนี้เป็นความผิดขั้นรุนแรงที่สุดตามข้อกำหนดตามกฎหมายวิชาชีพ สถาปนิกเมื่อถูกวินิจฉัยตัดสินให้เพิกถอนใบอนุญาตจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับตั้งแต่ได้รับคำวินิจฉัยชี้ขาด หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิขอรับใบอนุญาตได้ใหม่อีกครั้งหนึ่งตามขั้นตอนและระเบียบของสภาสถาปนิก ทั้งนี้ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องนำคืนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อสภาสถาปนิกโดยเร็ว และหากยังฝ่าฝืนปฏฺบัติวิชาชีพต่อไปโดยไม่มีใบอนุญาต ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันจะมีบทลงโทษทั้งปรับและจำคุกต่อไปดังกล่าวแล้วอีกเช่นกัน 
         นอกจากบทลงโทษดังกล่าว คณะกรรมการจรรยาบรรณ สภาสถาปนิกยังมีแนวทางวินิจฉัยคดีเพิ่มเติมในกรณีที่สถาปนิกผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดพร้อมกันในหลายๆ กรณีอีกด้วย โดยคณะกรรมการจรรยาบรรณจะพิจารณาแยกเป็นประเด็นการกระทำผิดเป็นแต่ละกรณีไปว่า สถาปนิกคนดังกล่าวกระทำความผิดจรรยาบรรณข้อใดบ้าง และในแต่ละกรณีมีบทลงโทษมากน้อยเพียงใด คณะกรรมการจรรยาบรรณเมื่อพิจารณาความผิดครบถ้วนทุกกระทงแล้ว จะนำบทลงโทษแต่ละกรณีมารวมกันแล้วจึงวินิจฉัยชี้ขาดบทลงโทษขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับการตัดสินคดีตามกฎหมายทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามหลังจากสถาปนิกผู้ถูกกล่าวหาถูกพิจารณาโทษว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาทำคำอุทธรณ์ตามระเบียบเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยใหม่ได้อีกครั้งภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรจากสภาสถาปนิก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น