วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรื่องที่ 3 : องค์ประกอบและเนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพ (Thailand Version)

เรื่องที่ 3 
องค์ประกอบและเนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพ
  
                                                                      

 
ข้อบังคับสภาสถาปนิก
ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
พ.ศ. 2545
____________________

       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8(6)(ซ) แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29ประกอบกับมาตรา 39 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายสภาสถาปนิก โดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาสถาปนิก ออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
       ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2545”
       ข้อ 2 ในข้อบังคับนี้ “ผู้ประกอบวิชาชีพ” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543
       ข้อ 3 ผู้ประกอบวิชาชีพผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในข้อบังคับนี้ให้ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพผู้นั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

      ในเนื้อหาสาระของข้อบังคับจะมีรายละเอียดชัดเจนถึงข้อควรปฏิบัติและพึงละเว้นปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมให้ถือปฏิบัติ ทั้งนี้ ข้อบังคับนี้ได้จำแนกองค์ประกอบของจรรยาบรรณวิชาชีพไว้ 4 ประเด็นหลักคือ จรรยาบรรณต่อสาธารณะ จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง และจรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


หมวด 1
จรรยาบรรณต่อสาธารณะ


      มีจำนวน 1 ข้อ เนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมทุกสาขา ว่าต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยเคร่งครัด กฎข้อบังคับในหมวดนี้ ได้แก่

       ข้อ 4 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 และบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม


หมวด 2
จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ

     มีจำนวนทั้งสิ้น 8 ข้อ (ข้อ 5-12) เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงการปฏิบัติวิชาชีพอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่สร้างความเสื่อมเสียต่อวิชาชีพ รวมทั้งการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน และแบบแผนแห่งวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น การไม่ลงลายมือชื่อในแบบ หรืองานที่ตนเองไม่ได้ทำ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการงดเว้นให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติอยู่ และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ การงดเว้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองในสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อีกด้วย ข้อบังคับในหมวดนี้ ได้แก่

       ข้อ 5 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่กระทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
       ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องปฏิบัติงานที่ได้รับทำด้วยความตั้งใจและเต็มความสามารถตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการให้สนองต่อประโยชน์ของผู้ว่าจ้างและสาธารณะอย่างถูกต้อง
       ข้อ 7 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
       ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม หรือใช้อิทธิพลหรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคล เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับหรือไม่ได้รับงาน
       ข้อ 9 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อย่างใดแก่เจ้าพนักงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการที่ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่เพื่อจูงใจหรือสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าพนักงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐหรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องนั้นผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐหรือผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้คุณหรือให้โทษใดๆ ต้องไม่รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์จากผู้ใด เพื่อจูงใจหรือสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจของตน
       ข้อ 10 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในงานที่ตนไม่ได้รับทำ ตรวจสอบ หรือควบคุมด้วยตนเอง
       ข้อ 11 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณา ด้วยประการใดๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนเอง เว้นแต่การแสดงชื่อ ตำแหน่ง คุณวุฒิ สาขาของวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้ประกอบวิชาชีพนั้นเอง
       ข้อ 12 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตนหรือชื่อของตนไปโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งปวง ทั้งพึงระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อต่างๆ ในทำนองโฆษณาความรู้ความสามารถของตนเองหรือของผู้อื่น


หมวด 3
จรรยาบรรณต่อผู้ว่าจ้าง


      มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ข้อ (ข้อ 13-21) เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติงานของสถาปนิกว่าควรปฏิบัติงานต่อผู้ว่าจ้างให้เต็มความรู้ ความสามารถและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ตัวอย่างเช่น การไม่ละทิ้งงานของผู้ว่าจ้างโดยไม่มีเหตุอันควร การไม่นำแบบหรืองานของตนที่ทำให้ผู้ว่าจ้างรายหนึ่งไปใช้กับผู้ว่าจ้างอีกราย หรือคัดลอกงานตนเองไปใช้งานต่ออีกครั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต และสถาปนิกต้องไม่เปิดเผยความลับ (งาน) ของลูกค้าต่อผู้อื่น รวมทั้งต้องให้ข้อมูลทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน ข้อบังคับในหมวดนี้ ได้แก่

       ข้อ 13 ผู้ประกอบวิชาชีพพึงรับให้บริการวิชาชีพก็ต่อเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพนั้น รวมถึงผู้อื่นซึ่งร่วมกันใน การดำเนินงานมีคุณวุฒิโดยการศึกษา โดยการฝึกฝน หรือโดยประสบการณ์เพียงพอในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้อง
       ข้อ 14 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบ จากผู้รับเหมาหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องในงานที่ทำให้กับผู้ว่าจ้าง
       ข้อ 15 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ละทิ้งงานที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร
       ข้อ 16 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่เปิดเผยความลับของงานที่ตนได้รับทำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก
ผู้ว่าจ้าง หรือโดยคำสั่งของเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือตามคำสั่งศาล
       ข้อ 17 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่รับดำเนินงานโดยใช้รูปแบบอย่างเดียวกันที่เคยรับทำให้แก่ผู้ว่าจ้างรายอื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างรายนั้น และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายใหม่นั้นทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
       ข้อ 18 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่รับดำเนินงานโดยใช้รูปแบบอย่างเดียวกันที่เคยรับทำให้แก่ผู้ว่าจ้างรายอื่นเพื่อการเปรียบเทียบประกวดแบบ หรือประกวดราคา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างรายนั้น และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายใหม่ทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
       ข้อ 19 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่แสวงหาหรือตกลงรับงานโดยรับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าความเหมาะสมตามมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรม จนเป็นเหตุให้ตนไม่สามารถจะให้บริการเต็มความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ว่าจ้าง ของตนและต่อสาธารณะ
       ข้อ 20 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่อวดอ้างกับผู้ว่าจ้างว่าตนเกี่ยวพันเป็นสมัครพรรคพวกหรือรู้จักคุ้นเคยกับ ผู้ใด อันกระทำให้ผู้ว่าจ้างหลงผิดว่าตนสามารถจะทำให้ผู้ว่าจ้างได้รับผลตอบแทนเป็นพิเศษ นอกจากทางการงาน หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือในทางใด ๆ ก็ได้
       ข้อ 21 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่งานของผู้ว่าจ้าง หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ผู้ว่าจ้างได้ทราบ


หมวด 4
จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ


      มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ข้อ (ข้อ 22 -28) เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงแนวทางการประกอบวิชาชีพของสถาปนิกที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมอาชีพ เพื่อให้การปฏิบัติวิชาชีพในหมู่นักวิชาชีพเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้แก่ ไม่แก่งแย่งรับทำงานชิ้นเดียวกันจากลูกค้าเดียวกัน ไม่โอ้อวดตนเองว่ามีความสามารถมากกว่าผู้อื่น และไม่คัดลอกแบบหรือนำงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่หางานด้วยการลดราคา หรือเสนอผลประโยชน์อื่นใดต่อลูกค้านอกจากการบริการตามมาตรฐาน การคัดลอกงานของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และการไม่ใส่ร้ายด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เพื่อนผู้ร่วมวิชาชีพเสื่อมเสีย ข้อบังคับในหมวดนี้ ได้แก่

       ข้อ 22 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โอ้อวดความรู้ความสามารถของตนจนเกินกว่าความเป็นจริงและต้องไม่แอบอ้างความคิดหรือผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพอื่นว่าเป็นของตน
       ข้อ 23 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่แสวงหางานด้วยการแข่งขันกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นโดยวิธีประกวดราคาหรือลดผลประโยชน์ สินจ้างหรือบำเหน็จรางวัล
       ข้อ 24 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่เสนอบริการของตนในการประกวดแข่งขันที่ไม่ได้มาตรฐานการประกวดแบบตามมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรม
       ข้อ 25 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่เข้าแย่งรับทำงานชิ้นเดียวกันและในขอบเขตงานเดียวกันจากผู้ว่าจ้าง รายเดียวกันที่ได้ว่าจ้างผู้ประกอบวิชาชีพอื่นอยู่แล้ว เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประกอบวิชาชีพนั้น หรือผู้ว่า
จ้างมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่เชื่อได้ว่าได้บอกเลิกสัญญาว่าจ้างกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นนั้นแล้ว
       ข้อ 26 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่รับตรวจสอบงานซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพอื่นทำอยู่ เว้นแต่เป็นการตรวจสอบตามหน้าที่หรือขอบเขตของงานหรือตามวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบของผู้ว่าจ้าง และได้แจ้งหน้าที่หรือขอบเขตของงาน หรือวัตถุประสงค์ดังกล่าวให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว
       ข้อ 27 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่ใช้หรือคัดลอกแบบ รูป แผนผัง ผังหรือเอกสารที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร
       ข้อ 28 ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่จงใจกระทำการใดๆ ให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของผู้ประกอบวิชาชีพอื่น


ประกาศ ณ วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2546



(นายปรีดิ์ บุรณศิริ)
นายกสภาสถาปนิก

หมายเหตุ : ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม 120 ตอนพิเศษ 68 ง วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2546

      จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นข้อกำหนดที่จัดทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเพื่อผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลาย ในการที่จะธำรงรักษา จรรโลงและส่งเสริมเกียรติคุณของวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดแก่สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายในการพิจารณาให้ความเห็นต่อเนื้อหาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการปฏิบัติวิชาชีพของตนเองและประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งยังสามารถร้องขอต่อสภาสถาปนิก ให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับจรรยาบรรณให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้หากเห็นว่ามีความล้าสมัย หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติวิชาชีพในสภาพปัจจุบันหรืออนาคต แต่ถึงกระนั้นก็ตามผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายพึงระลึกไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ นั้นพึงอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ และสังคมสาธารณะเป็นสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีของวิชาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น