วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วย "การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง" (พวต.) หรือ CPD

- ร่าง -
บันทึกหลักการและเหตุผล
ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดา
พ.ศ. ….
-------------------------
หลักการ
       ให้มีข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการต่ออายุใบอนุญาตทุกระดับ และการเลื่อนระดับเป็นสามัญสถาปนิกหรือวุฒิสถาปนิก
เหตุผล
        วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเป็นวิชาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพอาจปฏิบัติต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งในช่วง
ระยะเวลาดังกล่าว ความรู้ วิธีการ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมไม่สนใจแสวงหาหรือรับรู้ ย่อมจะล้าหลัง และอาจทำให้การให้บริการแก่สาธารณชนขาดประสิทธิภาพหรือขาดความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กระทั่งอาจสร้างความเสียหายแก่สาธารณชนก็เป็นได้
        เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะมีความรู้ความสามารถที่ทันสมัยอยู่เสมอ อันจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการให้บริการวิชาชีพ อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักการมาตรฐานระดับนานาชาติซึ่งมีการบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถและเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ในระหว่างที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การฟังบรรยาย ร่วมสัมมนาหรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเป็นผู้เผยแพร่ความรู้วิชาการวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม การอุทิศตนทำงานให้กับองค์กรวิชาชีพสถาปัตยกรรม ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้คะแนนสะสมครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการต่ออายุใบอนุญาตทุกระดับ และเพื่อใช้ประกอบการเลื่อนระดับจากภาคีสถาปนิกเป็นสามัญสถาปนิกหรือจากสามัญสถาปนิกเป็นวุฒิสถาปนิก อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิกในอันที่จะส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องออกข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้



- ร่าง -
ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดา
พ.ศ. ….
--------------------------------
       โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะและความรู้ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมรวมทั้งทักษะและความรู้ในด้านอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๘ (๖) (ง) (ฉ) และ (ฎ) และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓ สภาสถาปนิกโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาสถาปนิก จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้ เรียกว่า “ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ….”
       ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
       ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
       “การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง” หรือ “พวต.” หมายความว่า การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกระดับ โดยการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์หรือมีเนื้อหาสาระในอันที่จะยกระดับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
       “กิจกรรม พวต.” หมายความว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสภาสถาปนิกให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเข้าร่วมเพื่อเป็นการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องได้
       “ผู้จัดกิจกรรม พวต.” หมายความว่า สถาบัน องค์กร หรือหน่วยงาน ที่กำหนดโดยข้อบังคับสภาสถาปนิกให้เป็นผู้จัดกิจกรรม พวต.
       “หน่วย พวต.” หมายความว่า หน่วยคะแนนที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกรับรองหรือให้ความเห็นชอบสำหรับกิจกรรม พวต.
       “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาสถาปนิก
       “คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการชุดที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกได้แต่งตั้งและมอบหมายให้มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
       “ผู้ประกอบวิชาชีพ” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดาตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓
       “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่สภาสถาปนิกออกให้ในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม หรือสาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ แล้วแต่กรณี
       “วิทยากร” หมายความว่า ผู้ทรงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในเนื้อหาหลักสูตรของการฝึกอบรมหรือสัมมนา และให้หมายความรวมถึงผู้ดำเนินการสัมมนาหรือผู้บรรยายหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะอย่างเดียวกัน ซึ่งสภาสถาปนิกให้ความเห็นชอบ
       “ครูพี่เลี้ยง” หมายความว่า ครูพี่เลี้ยงตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยระบบสถาปนิกฝึกหัด
       “ครูฝึกหัด” หมายความว่า ครูฝึกหัดตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยระบบสถาปนิกฝึกหัด
       ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการออกระเบียบคณะกรรมการเพื่อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
              (๑) หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นขอความเห็นชอบเพื่อเป็นผู้จัดกิจกรรม พวต. ตามข้อ ๕
              (๒) คุณสมบัติของสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่จะให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดกิจกรรม พวต.ตามข้อ ๕(๕)
              (๓) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณารับรองกิจกรรม พวต. ตามข้อ ๗ (๓) (๔) (๕) (๙) และ (๑๐)
              (๔) หลักเกณฑ์โดยทั่วไปในการกำหนดขอบข่ายกิจกรรมและหน่วย พวต. สำหรับกิจกรรม พวต.ประเภทต่างๆ ตามข้อ ๙
              (๕) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำร้องของผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อขอเทียบหน่วย พวต.ตามข้อ ๑๐ วรรคสอง
              (๖) เนื้อหาสาระของกิจกรรม พวต. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม ตามข้อ ๑๒ (๓)
              (๗) แบบและวิธีการในการยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพ
              (๘) เรื่องอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องและของข้อบังคับฉบับนี้
       ข้อ ๕ ผู้จัดกิจกรรม พวต. ได้แก่ สถาบัน องค์กร หรือหน่วยงาน ดังต่อไปนี้
              (๑) สภาสถาปนิก
              (๒) องค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
              (๓) สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีการสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับการรับรอง ปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร และคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
              (๔) หน่วยงานของรัฐที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
              (๕) สถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
       ข้อ ๖ ผู้จัดกิจกรรม พวต. ต้องเสนอแผนกิจกรรมเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายการกิจกรรมและกำหนดหน่วย พวต. ให้ ก่อนการเริ่มต้นกิจกรรมไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน
       ข้อ ๗ กิจกรรม พวต. อาจอยู่ในขอบข่ายกิจกรรม ดังต่อไปนี้
              (๑) การเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมอันได้แก่ การบรรยาย การฝึกอบรม ประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน ที่จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. และสภาสถาปนิกให้ความเห็นชอบ
              (๒) เป็นวิทยากรในหลักสูตรหรือกิจกรรมตาม (๑)
              (๓) เขียนบทความทางวิชาการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม และได้รับการเผยแพร่ในวารสาร ในที่ประชุมวิชาการ หรือทางสื่อสาธารณะอื่น
              (๔) แต่งหนังสือ หรือตำราทางวิชาการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่
              (๕) เสนอผลงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการด้วยตนเองต่อที่ประชุมวิชาการ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม
              (๖) สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรซึ่งได้รับการรับรองโดยสภาสถาปนิก หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
              (๗) เป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานทางวิชาการหรือทางวิชาชีพในสภาสถาปนิก หรือในองค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพตามข้อ ๕ (๒)
              (๘) การเป็นครูพี่เลี้ยง หรือครูฝึกหัดในระบบสถาปนิกฝึกหัด
              (๙) ประเภทกิจกรรมอื่นๆ ดังต่อไปนี้
                     (ก) การเป็นผู้แทนของสภาสถาปนิกหรือขององค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพ ตามข้อ ๕ (๒) เพื่อร่วมพิจารณาในหัวข้อทางวิชาการหรือทางวิชาชีพ
                     (ข) การศึกษาด้วยตนเองทางวารสารหรือทางอินเทอร์เน็ตในกิจกรรมที่จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. และคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
                     (ค) การเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสภาสถาปนิก หรือขององค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพ ตามข้อ ๕(๒)
                     (ง) การเข้าร่วมกิจกรรมบริการสังคมอื่นๆ ที่เป็นการจรรโลงวิชาชีพ
                     (จ) ประเภทกิจกรรมอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบประกาศกำหนดเพิ่มเติมในภายหลัง
               (๑๐) การเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมอันได้แก่ การบรรยาย การฝึกอบรม ประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน ที่มิได้จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. หรือที่ยังมิได้เห็นชอบโดยคณะกรรมการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหลักสูตรหรือกิจกรรมนั้นต้องเป็นหลักสูตรซึ่งมีประสิทธิผลเป็นการเพิ่มพูนความรู้เพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
       ข้อ ๘ ให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณารับรองกิจกรรม พวต. ตามข้อ ๗ (๓) (๔) (๕) (๙) หรือ (๑๐) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
       ข้อ ๙ ขอบข่ายของกิจกรรม พวต. ประเภทต่างๆ และหน่วย พวต. สำหรับกิจกรรมพวต. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยทั่วไปที่คณะกรรมการกำหนดในกรณีที่ผู้จัดกิจกรรม พวต. มีข้อเสนอการจัดรูปแบบกิจกรรมที่มีลักษณะแตกต่าง หรือได้ประเมินหน่วย พวต. ที่ผู้ประกอบวิชาชีพว่าน่าจะได้รับแตกต่างจากหลักเกณฑ์โดยทั่วไป ให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. ยื่นคำร้องขอความเห็นชอบหน่วย พวต. ต่อคณะอนุกรรมการก่อนการประกาศแผนกิจกรรมไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. นั้นทราบโดยไม่ชักช้า
       ข้อ ๑๐ ให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. ออกเอกสารรับรองหน่วย พวต. ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมเพื่อเป็นหลักฐาน และให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. ส่งรายงานการรับรองหน่วย พวต. ให้แก่ คณะอนุกรรมการภายในสามสิบวันนับจากวันสิ้นสุดกิจกรรม
กรณีเป็นการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมที่มิได้จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. ดังที่ระบุในข้อ ๗ (๑๐) หากผู้ประกอบวิชาชีพประสงค์จะได้รับหน่วย พวต. ให้ยื่นคำร้องขอเทียบหน่วย พวต. ต่อคณะอนุกรรมการภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นสุดกิจกรรม หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
       ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบวิชาชีพจะได้รับหน่วย พวต. ในแต่ละกิจกรรม พวต. ตามที่ผู้จัดกิจกรรม พวต. แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและออกใบรับรองหน่วย พวต. ให้ หรือตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับจากการยื่นคำร้องขอเทียบหน่วย พวต. ตามข้อ ๑๐ วรรคสอง
       ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเลือกเข้ารับหรือเข้าร่วมกิจกรรม พวต. ประเภทใดๆ ก็ได้โดยอิสระเพื่อให้ได้รับหน่วย พวต. ครบตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
              (๑) สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องการต่ออายุใบอนุญาต จะต้องได้รับหน่วย พวต. ไม่น้อยกว่า ๖๐หน่วย ในกรณีที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับจากวันที่ยื่นคำร้องขอต่ออายุ
ใบอนุญาต นอกจากจะต้องได้รับหน่วย พวต. ตามวรรคก่อนแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับหน่วย พวต.เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า ๑ หน่วยต่อทุกระยะเวลาสามสิบวันนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือตั้งแต่ต่ออายุใบอนุญาตครั้งก่อนด้วย เศษของสามสิบวันถ้าเกินยี่สิบวันให้คิดเป็นสามสิบวัน
              (๒) สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับสามัญสถาปนิก หรือระดับวุฒิสถาปนิก ต้องได้รับหน่วย พวต. เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยต่อปี นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับภาคีสถาปนิก หรือระดับสามัญสถาปนิก แล้วแต่กรณี หรือตั้งแต่ต่ออายุใบอนุญาตครั้งก่อน
              (๓) หน่วย พวต. ที่ต้องการตาม (๑) หรือ (๒) ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหน่วย พวต. ที่ต้องการทั้งหมด ต้องได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม พวต. ที่มีเนื้อหาสาระซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมในสาขาของตน ตามที่คณะกรรมการกำหนด
              (๔) ผู้ประกอบวิชาชีพอาจสะสมหน่วย พวต. ได้มากที่สุดไม่เกิน ๒๐ หน่วยในแต่ละปี
การนับปีที่มีการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง ให้นับตามปีของอายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
สถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละคน (มิได้นับตามปีปฏิทิน)
              (๕) การเริ่มนับหน่วยพวต. ให้เริ่มนับเมื่อได้รับใบอนุญาตใหม่ หรือเมื่อต่ออายุใบอนุญาตทุกครั้ง
       ข้อ ๑๓ เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องต่อสภาสถาปนิกในการต่ออายุใบอนุญาต หรือ ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับสามัญสถาปนิก หรือวุฒิสถาปนิก การยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
       ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งได้รับโทษผิดจรรยาบรรณโดยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ยังคงมีหน้าที่ที่
จะต้องสะสมหน่วย พวต. ให้ครบตามที่กำหนดในข้อบังคับฉบับนี้ เพื่อใช้ในการขอต่ออายุใบอนุญาต
       ข้อ ๑๕ กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพมีเหตุจำเป็นบางประการที่ทำให้ไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรม พวต. ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพอาจขอยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอผ่อนผันจำนวนหน่วย พวต. พร้อมคำชี้แจงเหตุผลและหลักฐานยืนยัน โดยจะต้องยื่นคำร้องก่อนวันที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ
ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นอาจ
ได้รับหน่วย พวต. น้อยกว่าที่กำหนดตามข้อ ๑๒ (๑) ก็ได้
       ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ขอต่อใบอนุญาตโดยไม่ยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องหรือไดัรับหน่วย พวต. ไม่ครบตามที่กำหนดในข้อบังคับ สภาสถาปนิกจะยังไม่ต่ออายุใบอนุญาต หรือออกใบอนุญาตให้จนกว่าผู้ประกอบวิชาชีพจะยื่นหลักฐานให้ครบถ้วนและได้รับหน่วย พวต. ครบตามที่กำหนดในข้อบังคับฉบับนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๗
       ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตโดยได้รับหน่วย พวต. ไม่ครบตามข้อ ๑๒ (๑) ผู้ประกอบวิชาชีพอาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตซึ่งมีอายุคราวละหนึ่งปี โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
              (๑) ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับหน่วย พวต. ไม่น้อยกว่า ๑๘ หน่วยและไม่เกินที่กำหนดตามข้อ ๑๒ (๔) ในระหว่างอายุใบอนุญาตแต่ละปี
              (๒) ผู้ประกอบวิชาชีพจะสามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตซึ่งมีอายุคราวละห้าปีได้เมื่อได้รับหน่วย พวต. แล้วไม่น้อยกว่า ๖๐ หน่วยในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังจากวันที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต
       ข้อ ๑๘ หากพบว่าผู้ประกอบวิชาชีพยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องอันเป็นเท็จหรือมีการปลอมแปลงเอกสาร ให้เลขาธิการสภาสถาปนิกเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า
หากพบว่าผู้จัดกิจกรรม พวต. รายใดฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้สภาสถาปนิกมีหนังสือตักเตือน หรือยกเลิกการ
ให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดกิจกรรมพวต. ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
       ข้อ ๑๙ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมีอายุคงเหลือไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันจำนวนหน่วย พวต. ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
              (๑) อายุใบอนุญาตคงเหลือไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง ทั้งนี้จะต้องเป็นการต่ออายุใบอนุญาตก่อนวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ
              (๒) อายุใบอนุญาตคงเหลือเกินกว่าหนึ่งปีขึ้นไป แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ต้องได้รับหน่วย พวต. เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยต่อปี โดยคำนวณจากระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับมาแล้วหนึ่งปี จนถึงวันที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหมดอายุ ในกรณีที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วเกินกว่าสามสิบวันนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอต่ออายุใบอนุญาต นอกจากจะต้องได้รับหน่วย พวต. ตามวรรคก่อนแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับหน่วย พวต. เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า ๑ หน่วยต่อทุกระยะสามสิบวัน ในช่วงระยะเวลาที่ใบอนุญาตขาดอายุด้วย เศษของสามสิบวันถ้าเกินยี่สิบวันให้คิดเป็นสามสิบวัน
       ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับสามัญสถาปนิกหรือวุฒิ
สถาปนิกภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันจำนวน
หน่วย พวต. ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
              (๑) กรณียื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
              (๒) กรณียื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายในระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีขึ้นไป แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ต้องได้รับหน่วย พวต. เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยต่อปี โดยคำนวณจากระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับมาแล้วหนึ่งปี จนถึงวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับสามัญสถาปนิกหรือวุฒิสถาปนิก

ประกาศ ณ วันที่ ……………………….พ.ศ. ....
นายกสภาสถาปนิก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น