วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Real Trip : สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น วันที่ 5

28/07/2010 : วันที่ 5 ของการเดินทาง ณ สุโขทัย

       เริ่มต้นในวันนี้ เราได้มายัง เขื่อนสรีดภงส์  หรือ ทำนบพระร่วง ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย โดยทำนบนี้เป็นเขื่อนดิน (คันดิน) สำหรับ กั้นน้ำอยู่ระหว่างซอกเขา ระหว่างเขาพระบาทใหญ่และเขากิ่วอ้ายมา เพื่อกักน้ำและชักน้ำไปตามคลองส่งน้ำ มาเข้ากำแพงเมืองเข้าสระ ตระพังเงิน ตระพังทอง เพื่อนำไปใช้ใน เมืองและพระราชวังในสมัยโบราณ โดยการต่อท่อดินเผาโยราณ ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ ปรับปรุงบูรณะและซ่อมแซมขึ้นใหม่


       ต่อมา เรามายัง วัดมังกร อยู่ทางด้านตะวันตกของเมือง สันนิษฐานว่าเป็นวัดป่า จะเห็นซากโบราณสถาน คือโบสถ์ หรืออุโบสถเป็นประธาน ไม่ใช่วิหาร มีการใช้เซรามิกในการทำกำแพงแก้ว มีกรอบ เจดีย์ทรงลังกา ไม่วางเจดีย์ไว้ด้านหลัง แต่จะวางขนาบด้านข้างของโบสถ์ มีใบเสมาหินสองใบ เพราะอาจเป็นการรวมเอาสองนิกายมาใช้ร่วมกัน ทั้งนิกายเดิมของท้องที่ และนิกายที่มาจากลังกา เนื่องจากพระเถระสมัยสุโขทัยนิยมเดินทางไปยังลังกา และอาจมีการแปลงศาสนาให้เข้ากับวินัยที่ถูกต้อง โครงสร้างอาคารคล้ายกับที่วัดไหล่หิน และวัดปงยางคก แต่แตกต่างกันที่เสาโครงสร้างจะใช้ศิลาแลงแทนไม้ เนื่องจากสุโขทัยมีศิลาแลงอยู่มากนั่นเอง




      วัดต่อมาที่เรามาศึกษาก็คือ วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเนินปราสาท ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่พักอาศัยของพระเจ้าแผ่นดิน วัดมหาธาตุเป็นประจำแผ่นดินของกษัตริย์ ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ตามแบบแผนความเชื่อในเรื่องจักรวาลแบบอินเดียโบราณ เป็นวัดที่มีความสำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมากถึง ๒๐๐ องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ที่ด้านเหนือและด้าน ไต้เจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" พระพุทธรูปยืน ที่มีขนาดใหญ่สูงราว ๑๘ ศอก ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างของเจดีย์ประธาน ด้านใต้ยังพบแท่งหินเรียกว่า "ขอมดำดิน" อีกด้วย      
             
       เจดีย์ประธาน ซึ่งตั้งเด่นสง่างามมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยโดยแท้ แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ทิศที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่
 
รายรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศจำนวน ๘ องค์ องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะ
หริภุญไชย ล้านนา ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา รอบๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลี เดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ




       ต่อมา เราได้แวะพักรับประทานอาหารกลางวัน ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีการประยุกต์ใช้รูปแบบลักษณะอาคารเดิมของสุโขทัยไว้ได้อย่างลงตัว




        หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว เราก็ได้เิดินทางมายัง วัดพระพายหลวง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก่อสร้างก่อนการตั้งเมืองสุโขทัย เดิมเป็นเทวสถาน เนื่องจากพบชิ้นส่วนของเทวรูป และฐานศิวลึงค์ ต่อมาปรับเปลี่ยนมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มี ความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากวัดมหาธาตุ เพราะมีรูปแบบศิลปกรรมตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของสุโขทัย และมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยสุโขทัยตอนปลาย วัดพระพายหลวงจึงเป็นแหล่งรวมงานศิลปกรรมหลายยุคหลายสมัย ผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น คูชั้นนอกเรียก คูแม่โจน มีปรางค์ศิลาแลง 3 องค์เป็นประธานของวัด องค์กลางและองค์ด้านทิศใต้พังเหลือแต่ฐาน เหลือเพียงองค์ด้านเหนือ หน้าบันประดับลายปูนปั้นเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยตอนต้นที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศิลปะขอมสมัยบายน (รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) โบราณสถานที่สำคัญ คือ วิหาร ๕ ห้อง อยู่ด้านหน้าปรางค์ เจดีย์ทรงเหลี่ยมแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปนั่งลดหลั่นอยู่ภายในทั้ง ๔ ซุ้ม รอบเจดีย์มีระเบียงคด และมีร่องรอยตั้งพระพุทธรูปปูนปั้น ถัดจากเจดีย์เหลี่ยมมีมณฑปก่ออิฐ มีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปยืนติดกับด้านหน้ามณฑป ๕ องค์ ที่ปรากฏชัดเจนคือพระพุทธรูปปางลีลา ถัดจากมณฑปมีวิหารพระนอน และมีวิหารเจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบวัดทั้ง ๔ ด้าน




       วัดต่อมาคือ วัดศรีชุม เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในวัดปรากฏโบราณสถานขนาดใหญ่ลักษณะมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มมณฑป ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ตัวมณฑปนั้นตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าเปิดเป็นช่องเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปงดงามแต่ไกล ตัวโบราณสถานประกอบด้วยอาคารหลัก 2 หลัง หลังแรกเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 32 คูณ 32 ม. สูง 15 ม. ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีชื่อว่า พระอจนะ ในด้านหน้า เป็นวิหารหลวงมี 6 ห้อง



 
      วัดต่อมาคือ วัดศรีสวาย เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ลักษณะเป็นปรางค์สามยอดแบบขอม  มีคูน้ำล้อมรอบปรางค์สามองค์ โบราณสถานดังกล่าวนี้มีที่มาจากทรงปราสาทแบบขอม แต่ได้รับการดัดแปลงแตกต่างจากต้นแบบ เช่นส่วนประดับของปราสาทขอมที่เรียกว่า บันแถลง กลายเป็นรูปกลีบขนุน และปูนปั้นประดับกลีบขนุนเป็นรูปครุฑยุดนาคและเทวดา ปรางค์วัดศรีสวายจึงแตกต่างจากปรางค์สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีต้นแบบจากปรางค์ในศิลปะขอม และคล้ายคลึงแบบขอมมากกว่าปรางค์ในแบบของช่างสุโขทัย

      เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ทรงพบรูปพระอิศวร และโบราณวัตถุหินจำหลักเป็นทับหลังรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ รูปพระนารายณ์สี่กร และชิ้นส่วนของเทวรูปและศิวลึงค์ทำด้วยสำริด จึงทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้คงเป็นสถานที่พวกพราหมณ์ใช้ทำพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) แต่ต่อมาเมื่อคนไทยเข้ามาครอบครองกรุงสุโขทัย วัดนี้จึงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา






       



       สุดท้ายในช่วงเย็น เราก็ได้เดินทางมายัง หมู่บ้าน ในระแวกนั้น ศึกษาวิถีพื้นบ้าน การใช้พื้นที่อาคารให้มีความสัมพันธ์กับพื้นที่โล่ง รวมถึงการใช้วัสดุต่างๆ และเทคนิคการก่อสร้างที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่แท้จริง






       หมดลงอีกหนึ่งวันสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ พรุ่งนี้ได้ข่าวมาว่า เราจะต้องเดินทางไปยังเมืองลับแล ก็หวังว่าจะพบความสนุกสนานในการเรียนรู้ เพิ่มเติมที่มากกว่าวันนี้อย่างแน่นอน

สำหรับวันนี้....."หมดยกที่ 5"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น