26/07/2010 : วันที่ 3 ของการเดินทาง ณ ลำปาง
ในวันนี้เราได้เดินทางมาศึกษารูปแบบอาคารยัง วัดพระธาตุดอนเต้า หรือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงามมีอายุนับพันปี เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุดอนเต้า ซึ่งเป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่ พอๆ กับการสร้างวัดนี้ นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติล้านนา และวิหารพระเจ้าทองทิพย์
เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่า "วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม" มีตำนานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (หมากเต้า) แล้วนำมาถวาย พระเถระรูปนั้นจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวงสาเหตุ จากตำนานบอกว่า มีผู้ไปฟ้องเจ้าเมืองลำปางในขณะนั้นว่า พระเถระและนางสุชาดาเป็นชู้กัน เจ้าเมืองลำปางจึงให้จับนางสุชาดาไปประหารชีวิต ส่วนพระเถระองค์นั้นทราบข่าวก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหนีไป โดยได้นำไปฝากไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงจนถึงปัจจุบัน ส่วนสถานที่ตั้งบ้านของนางสุชาดา ก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาในคุณงามความดีของนาง บริจาคเงินสร้างวัดขึ้นชื่อวัดสุชาดาราม แต่มีบางสันนิษฐานบอกว่าเนื่องจากวัดพระแก้วดอนเต้า และ วัดสุชาดาราม นั้นร้างลง แต่บางที่ก็มีการสันนิษฐานเพิ่มว่า น่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้า และเป็นที่ดอน จึงชื่อพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า
 |
อาจารย์จิ๋วกำลังอธิบายความเป็นมา รวมไปถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุดอนเต้า |
อาคารอุโบสถขนาดเล็ก หลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุขหน้าเป็นระเบียงโถง บันไดนาคใช้จังหวะการทอดตัวของนาคตามแบบที่นิยมกันในล้านนา
วิหารลายคำสุชาดาราม เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาสกุลช่างเชียงแสน สร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2324-2352 มีขนาดใหญ่ หลังคา 3 ชั้น 2 ตับ ระนาบหลังคาอ่อนโค้งเล็กน้อย วางสิงห์คู่ไว้ในตำแหน่งที่นิยมกันในเมืองลำปาง คือ วางชิดตัวอาคาร และยกแท่นให้สูงระดับคอสองเหนือประตู ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง โดยมีลวดลายทองประดับตามส่วนต่าง ๆ งดงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเชียงแสน
 |
ทางเข้าด้านหน้าของวิหาร |
 |
ลานโล่งรอบๆ วิหาร |
 |
หลังคาสามชั้น พร้อมลวดลายประดับในโครงสร้างส่วนต่างๆ |
 |
มีพระพุทธรูปเชียงแสน ประดิษฐานอยู่ |
 |
ลวดลายประดับในส่วนของโครงสร้างอาคาร |
 |
มีการติดมุ้งลวดไว้ที่ช่องผนังลูกกรง เพื่อป้องกันยุง แมลง และนกเข้ามาในวิหาร |
พระธาตุ (เดิม) มีขนาดกลาง รูปทรงอาจเรียกทรงล้านนาได้ แต่ก็มีลักษณะพิเศษบางอย่าง เช่น ชั้นฐานทรงสี่เหลี่ยมยกเก็จนั้นยืดสูง และมีชั้นฐานสี่เหลี่ยมเทินรับอีกชั้น หนึ่งจนกลายเป็นจุดเ่นจุดเน้นขององค์พระธาตุ แทนที่จะเป็นชั้นมาลัยเถาเช่นธาตุทรงล้านนาองค์อื่นๆ องค์ระฆังขนาดเล็กเทินบนชั้นมาลัยเถาก็ไม่ใช้รูปทรงระฆังคว่ำ แต่เป็นทรงกระบอกผายออกตอนบนเล็กน้อย บัวก็ทำเป็นแบบบัวคอเสื้อ แทนการใช้บัวคาดขวางกลางองค์ระฆังตามแบบล้านนา
 |
พระธาตุองค์เดิม |
 |
ศาลานั่งพัก อยู่ระหว่างทางไปยังพระธาตุดอนเต้า |
 |
องค์พระบรมธาตุดอนเต้า พระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า |
 |
มีพระพุทธรูปศิลปะพม่า ประดิษฐานอยู่ |
จากนั้นจึงเดินทางมายังหมู่บ้าน คุ้มอินทนิล ศึกษารูปแบบบ้านชาวบ้าน และวิถีชีวิต ในชุมชนแห่งนี้
 |
มีการยื่นเสาเอ็นไม้ออกมาจากแนวเสาคอนกรีตด้านล่าง เพื่อเพิ่มพิ้นที่ใช้งานในส่วนยุ้งข้าวให้มากขึ้น |
 |
วัสดุหลังคาคอนกรีตที่ผลิตขึ้นเอง และเก็บสำรองไว้ใช้ |
 |
ห้องน้ำก่ออิฐ ตั้งอยู่ชั้นล่างนอกตัวบ้านเพื่อป้องกันกลิ่น |
 |
บริเวณด้านหน้าทางเข้าบ้าน และลานดินโล่ง (บ้านหลังต่อมา) |
 |
เล้าไก่ และคอกหมู |
 |
พื้นที่ใต้ต้นไม้ สามารถหลบแดด และให้ร่มเงาได้ |
 |
นอกจากเป็นพื้นที่นั่งเล่นแล้ว ยังสมารถปรับเป็นที่นอนได้อีกด้วย |
 |
ลานดินโล่ง ใช้ประโยชน์ในตอนกลางวันได้ เมื่อมีร่มเงาจากต้นไม้ |
 |
รั้วไม้ไผ่ ประยุกต์ใช้ร่วมกับรั้วธรรมชาติอย่างต้นไม้ |
 |
ทางเข้าบ้านด้านหน้า (บ้านหลังต่อๆ มา) |
 |
Space within Space |
 |
โปร่ง และ ทึบ |
หลังจากศึกษาบ้านชาวบ้านแล้ว เราก็เดินทางไปยัง วัดข่วงกอม ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี สร้างโดยครูบาศรีวิชัย เดิมมีสภาพทรุดโทรมเกินกว่าจะซ่อมแซม จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจระหว่างชาวเมืองปาน ช่างฝีมือท้องถิ่นและสถาปนิกของการเคหะแห่งชาติ โดยการนำของ ดร.วทัญญู ณ ถลาง อดีตผู้ว่าคนแรกของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งท่านเป็นสถาปนิกมีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย ที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการที่จังหวัดลำปาง ออกแบบวัดข่วงกอมใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่โบสถ์ ศาลาราย หมู่กุฏิ ซุ้มประตูโขงและภูมิทัศน์แวดล้อม โดยยังคงเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมล้านนาเดิมของท้องถิ่น ก่อสร้างด้วยวัสดุพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นนำมาประยุกต์กับเทคโนโลยี สมัยใหม่ ทำให้ได้ผลงานออกมางดงามตามความต้องการของทุกฝ่าย และเป้นผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่ง
 |
ทางเข้า และซุ้มประตูด้านหน้าวัด |
 |
อุโบสถวัดข่วงกอม หลังจากสร้างขึ้นใหม่ |
 |
ลักษณะช่องเปิดทางตั้ง เอกลักษณ์ล้านนา |
 |
ระเบียงแก้ว รูปแบบคล้ายกับวัดไหล่หิน |
 |
โครงสร้างหลังคาระเบียงแก้ว |
 |
โครงสร้างรับรับน้ำหนัก และส่วนยื่นของชายคาของหลังคา |
 |
ลานโล่งบริเวณด้านหน้าของวัดข่วงกอม |
 |
ส่วนที่พักรองรับนักท่องเที่ยว |
 |
โครงสร้างชั้นหนึ่งเป็นคสล. ,ชั้นสองเป็นไม้ ,โครงสร้างหลังคา และกระเบื้องใช้วัสดุเป็นไม้ เช่นกัน |
 |
ชานพักรวมกลางแจ้ง |
 |
ซุ้มประตูทางเข้า ออกแบบให้สัมพันธ์กับธรรมชาติมากที่สุด |
 |
ผังสเกชตำแหน่งที่พักรองรับนักท่องเที่ยว |
 |
ถนนในระแวกหมู่บ้าน |
 |
ทุ่งนาอันเขียวขจี |
 |
ศาลาพักร้อนปลายนา |
ที่สุดท้ายในวันนี้ เรามากันที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ซึ่งมีที่พักผ่อนทั้งในส่วนของน้ำพุร้อน ภายในพื้นที่มีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยกรุ่นขึ้นจากบ่อปกคลุมรอบบริเวณราวกับสายหมอก น้ำพุร้อนมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของน้ำพุร้อนประมาณ 73 องศาเซลเซียส ที่นี่สามารถนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ให้สุกได้ โดยสำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที
และพื้นที่บางส่วนที่เป็นน้ำตก พวกเราส่วนใหญ่จะลงเล่นน้ำตกกันก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงขึ้นไปแช่น้ำร้อนในบ่อ ซึ่งให้ความรู้สึกดีเลยทีเดียว (ถ้าเป็นฤดูหนาวจะดีมาก)
 |
บ่อน้ำพุร้อน และโขดหิน กระจัดกระจายเต็มพิ้นที่ |
 |
บ่อแช่ไข่นกกระทา และไข่ไก่ |
 |
ป้ายทางเข้า อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน |
แล้วก็หมดไปอีกหนึ่งวัน สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ วันนี้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เคยเรียนมาแล้วซึ่งอาจยังไม่เคยได้ใช้ หรือสัมผัสจริง เช่นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ หรือการมองให้เห็นความงาม เป็นต้นอีกทั้งยังได้ความสนุก และความสดชื่นหลังจากได้แช่น้ำร้อนอีกด้วย แล้วพบกันใหม่ในวันพรุ่งนี้...นะครับ
สำหรับวันนี้....."หมดยกที่ 3"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น