วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Real Trip : สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น วันที่ 7

30/07/2010 : วันที่ 7 ของการเดินทาง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 

       วันนี้เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้จริงๆ วันนี้เรามากันที่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เริ่มแรกสถานที่ที่เรามาถึงก็คือ ประตูทางเข้าสู่ วัดพระศรีมหาธาตุราชวรวิหาร ไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่ดูจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว วัดนี้มีอายุตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ คือ ประมาณ 800 ปีมาแล้วเป็นอย่างต่ำ ซึ่งความจริงอาจสามารถกำหนดอายุได้มากกว่านี้เพราะที่ตั้งของวัดมีลักษณะ เป็นศูนย์กลางของชุมชนหรือเมืองบริเวณนี้ คือ เมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับยุคทวารวดี วัดนี้เป็นวัดสำคัญของเมืองเชลียง ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในศิลาจารึกหลักที่ 1 และในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จไปปราบชุมนุมพระฝางเมืองสวางคบุรี แล้วได้เสด็จสมโภชพระบรมธาตุเมืองเชลียงนี้ด้วย และวัดนี้ยังเป็นที่สรงน้ำมูรธาภิเษก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล








       ต่อมาเราเดินทางมายัง วัดโคกสิงคาราม ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออกของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ติดกับกำแพงเมืองเชลียง ช่วงที่ต่อตัวเมืองเก่าศรีสัชนาลัย อยู่ห่างจากตัวเมืองเก่าออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑ กิโลเมตร วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

       โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเช่นเดียวกับวัดศรีสรรเพชญ์ ที่อยุธยา วิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารมีช่องแสง โบสถ์อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหาร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นภายในโบสถ์ปูด้วยศิลาแลง ภายในโบสถ์มีเจดีย์ทรงกลม ซึ่งมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป รอบ ๆ เจดีย์มีเจดีย์รายตั้งอยู่โดยรอบสี่องค์ กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงมีอยู่สามด้าน กำแพงด้านทิศใต้ใช้ร่วมกับแนวกำแพงเมืองเชลียง








       ต่อมาเราเดินมางมายังหมู่บ้านบริเวณเมืองเก่า ศึกษาเกี่ยวกับอาคารบ้านเรือนชาวบ้านอีกเช่นเคย ลักษณะการใช้พื้นที่อาคาร และที่โล่งมีรูปแบบที่คล้ายกับบ้านชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้เคยศึกษามา แต่แตกต่างในการจัดพื้นที่ภายในและวัสดุบางชนิดเท่านั้นเอง และในวันนี้เรายังคงต้องฝึกฝนการมองให้เห็นความงามกันต่อไป




       หลังจากแวะรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว เราก็เดินทางมายัง วัดกุฎีราย สิ่งก่อสร้างที่ยังเหลือให้เห็นอยู่คือ วิหารศิลาแลงโครงสร้างโค้ง Corebell แบบกรีก โดยการใช้ศิลาแลงอัดให้เป็นซุ้มโค้ง ได้สัดส่วนที่งดงาม


       ต่อมา เรามายัง ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก ซึ่งมีการขุดค้นพบซากเตาเผาโบราณ ขนาดใหญ่ โดยที่ตัวอาคารออกแบบให้สร้างค่อมตัวพื้นที่เตาเผาไว้ มีการใช้วัสดุโครงสร้างสมัยใหม่อย่างเหล็ก เพื่อให้สามารถรับ และถ่ายน้ำหนักในส่วนของหลังคาที่มีช่วงพาดกว้าง และใหญ่ได้ วัสดุผนังเป็นอิฐก่อ บางส่วนฉาบปิดผิว บางส่วนเปิดให้เห็นถึงวัสดุจริง รั้วกำแพงยังคงใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้างในรูปแบบของเสา และคาน มีการประดับหัวเสารั้วกำแพงด้วยโคมประทีป ที่สามารถใช้งานได้อีกด้วย

       ในด้านของพื้นที่การใช้งาน มีการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายนอกและพื้นที่ภายในได้อย่างลงตัว ต่อเนื่องกัน แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงภายในตัวอาคารได้ การระบายอากาศใช้รูปแบบช่องเปิดที่ล้อเลียนมาจากรั้ววกำแพง ซึ่งเป็นช่องเปิดตามตั้ง สอดประสานเข้ากับตัวอาคารได้อย่างลงตัว และสวยงาม









       หลังจากนั้น เราได้ออกมาเดินสำรวจบ้านในบริเวณใกล้เคียง ก็ได้พบกับ บ้านของคุณจรูญ ก้านเงิน ซึ่งมีลักษณะที่มีความเป็นธรรมชาติ และความดั้งเดิมของท้องที่ มีลานโล่ง และต้นไม้สูงใหญ่ ตัวบ้านคอยรับแสงไว้ในตอนบ่าย ทำให้บริเวณลานดินโล่งเกิดร่มเงา และมีอากาศที่เย็นสบาย พื้นที่ภายใบ้านจัดแบ่งได้อย่างเป็นสัดส่วน ส่วนต้อนรับอยู่ด้านล่าง ทางเข้าบ้านอยู่ชั้นสอง และครัวอยู่ชั้นบน หลังบ้าน นอกเหนือจากบ้านหลังนี้แล้ว เราก็ได้เดินสำรวจ และศึกษาไปยังบ้านในบริเวณรอบๆ อีกเช่นกัน



       สถานที่ต่อไปที่เรามาถึงคือ วัดเจดีย์เก้ายอด ศึกษาในเรื่องของการสร้างอาคารบนพื้นที่ลาดชัน การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เป็นหินภูเขา โดยการสร้างวัดทับลงบนเนินหิน อาคารที่สร้างขึ้นจากศิลาแลงมีความสอดคล้อง กับสภาพหินตามธรรมชาติ มีความกลมกลืนกัน การปรับระดับ และเล่นระดับของพื้นที่ตามความลาดชัน ให้สัมพันธ์กับมุมมองในการมองเห็นอีกด้วย



       เมื่อเดินขึ้นไปตามทางขึ้นเขา เราได้พบกับ วัดเขาใหญ่บน และ วัดเขาใหญ่ล่าง ซึ่งมีลักษณะการวางอาคารคล้ายกับ วัดเจดีย์เก้ายอด คือ วางบนเนินหิน เช่นกัน





       หลังจากนั้น เราได้ลงมายังส่วนบริการนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เพื่อเดินทางเข้าสู่เส้นทางชม วัดในบริเวณเมืองเก่าทางประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจากการเดินไปตามทางจะพบกับ ป้อม และประตูรามณรงค์ มีการหักหลบเมื่อใกล้ถึงทางเข้า เพื่อให้เกิดการชะลอเวลามีข้าศึก หรือศัตรูเข้ามา ซึ่งด้านล่างเป็นฝายหินน้ำล้น





       วัดนางพญา มีบริเวณกว้างขวางพอสมควร ภายในวัดมีเจดีย์ทรงลังกาประกอบซุ้มเรือนธาตุเป็นประธาน ก่อด้วยศิลาแลงสูงใหญ่ และมีสภาพสมบูรณ์รอบฐานเจดีย์ มีเสาโคมไฟโดยตลอด มีบันไดขึ้นไปบนเจดีย์ และมีวิหารซึ่งขนาดเจ็ดห้อง ซึ่งเป็นผังที่นิยมสร้างกันในแบบสุโขทัยและสถาปัตยกรรมเมืองเหนือ ภายในวิหารตามเสาทุกด้านมีเทพพนมและลวดลายต่างๆ ทำด้วยสังคโลกไม่เคลือบ

       จุดเด่นของวัดนี้คือมีผนังเหลืออยู่ด้านหนึ่งโดยมีลวดลายปูนปั้น ที่สวยงามอยู่ แต่ปัจจุบันหลุดลอกออกไปพอสมควรแล้ว ทั้งนี้มีการสร้างหลังคาสังกะสีคลุมผนังไว้อีกทีเพื่อการอนุรักษ์ ผนังดังกล่าวเป็นผนังที่ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องอากาศตามแบบสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น




จากนั้น เราก็เดินมายัง วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในแกนวัดสำคัญกลางเมือง นายเที่ยน ชาวบ้านในท้องถิ่นผู้นำเสด็จรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองนี้เรียกว่า วัดอุทยานใหญ่ฯ ซึ่งพงศาวดารเหนือกล่าวว่ามีเจ้าอวาสชื่อ พระครูยาโชค(ญาณโชติ) เจ้าคณะวัด มหาธาตุฝ่ายขวา โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วย วิหารตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธารทรงระฆัง มีบันไดทางขึ้นจากมุขหลังวิหารสู่ซุ้มคูหาในเรือนธาตุ ซึ่งเดิมคงเคยประดิษฐานพระพุทธรูป ล้อมรอบเขตพุทธาวาสด้วยกำแพงศิลาแลง มีประตูเข้าทางด้านหน้า และมีประตูด้านขวาออกไปสู่เขตสังฆาวาส



ต่อมาเป็น วัดเจดีย์เจ็ดแถว น่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมือง เจดีย์รายมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆหลายแห่ง เช่น ลังกา และพุกาม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถงส่วนซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้นมีภาพ จิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ เจดีย์รายที่มีลักษณะเด่นองค์หนึ่งเรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท คือซุ้มจรนัมด้านหลังของเรือนธาตุ ทำเป็นซุ้มมณฑปมีเรือนยอดข้างบนสูงเป็นซุ้มทางทิศตะวันตกมีพระพุทธรูปปาง นาคปรกประดิษฐานอยู่ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกสมัยสุโขทัยที่สวยงามยิ่ง รวมทั้งหมดแล้ววัดเจดีย์เจ็ดแถวมีเจดีย์รายและอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กันถึงเกินกว่า 30 องค์ สมกับที่ได้ชื่อว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถว นอกจากนั้นยังมีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ภายนอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ ซึ่งเดิมมีคูน้ำล้อมรอบ ทั้งนี้ภายในบริเวณวัดมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพ นำผ้าสีมาพันไว้รอบต้นไม้



       วัดช้างล้อม มีเจดีย์ทรง ลังกาที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช้างปูนปั้นเต็มตัวล้อมรอบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวม 39 เชือก หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ ประกอบกับวิมุตติ 2 ประการ ปัจจุบันช้างปูนปั้นได้ผุผังไปเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่เห็นเป็นรูปหัวช้างอยู่จำนวนไม่กี่เชือก แต่ยังคงแสดงออกถึงความงดงามของประติมากรรมสมัยสุโขทัยอย่างเต็มที่ ลักษณะที่เด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่เทียบเท่าหรือใหญ่กว่าช้างจริงอีกด้วย









ยามเย็น ณ วัดเขาสุวรรณคีรี

       หลังจากเดินทางกันมาทั้งวันแล้วในวันนี้ รู้สึกได้ทันทีว่า คนไทยสมัยก่อนนี้ช่างมีความรู้ความสามารถ มีความคิดลึกซึ้งถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว รวมถึงการประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ ให้เกิดความน่าอัศจรรย์ใจแก่เราได้ ถึงแม้ว่าอาจจะหลงเหลือไว้เพียงแค่ซากปรักหักพังก็ตาม
     
  สำหรับวันนี้....."พักยกที่ 7"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น