01/08/2010 : วันที่ 9 (วันสุดท้าย) ของการเดินทาง ณ พิษณุโลก
วันสุท้ายของการเดินทาง...วันนี้เราเดินทางมายัง วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก กันในช่วงเช้า ซึ่งวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ สมัยสุโขทัย เดิมสันนิษฐานว่า เป็นวัดเดียวกับวัดนางพญา เนื่องจากมีหางหงส์เป็นรูปนาคสามเศียรเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีการพบพระเครื่องนางพญา หนึ่งในเบญจภาคีที่มีชื่อเสียง บริเวณพระอุโบสถ ซึ่งพระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาได้บูรณะขึ้น เนื่องจากมีใบเสมา 2 ชั้น ภายในประดิษฐานหลวงพ่อทองดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เดิมชาวบ้านต้องการหล่อองค์พระให้มีสีทองเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป แต่ปรากฏว่าหลังหล่อองค์พระเสร็จ กลับเป็นสีทองหม่นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อ "หลวงพ่อทองดำ" ภายในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาหนัง ภาพชาดก,ภาพรามเกียรติ และมีภาพลักษณะกามกรีฑาปรากฏอยู่ด้วย
หลังจากนั้น เราก็ได้ข้ามฝั่งไปยัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า "วัดใหญ่" ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย
พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งนับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัย ที่มีความสง่างามสมส่วน และยังคงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่ง
องค์พระปรางค์ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของวัด เป็นพระปรางค์ประธาน และเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของวัด การก่อสร้างพระปรางค์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ได้ทำตามคตินิยมของหัวเมืองราชธานี ของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้น คือประสงค์ให้พระปรางค์เป็นหลักเป็นประธานของวัด และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รูปแบบของพระปรางค์เมื่อเริ่มสร้างสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์ที่สร้างในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไป ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ได้โปรดให้บูรณะพระปรางค์โดยดัดแปลงพระเจดีย์ ได้ให้เป็นรูปแบบพระปรางค์แบบขอมตามพระราชนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในที่สุด ก็ถึงเวลาที่เราต้องเดินทางกลับกันเสียแล้ว แม้ว่าการเดินทางในครั้งนี้จะจบเพียง 9 วัน แต่การเรียนรู้ศึกษาในด้านของสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ยังคงอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป และหวังว่า เรา และท่านทั้งหลายที่ได้อ่านบทความนี้ จะได้นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้จริง
สำหรับวันนี้....."หมดยกที่ 9"
.....สวัสดี.....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น