25/07/2010 : วันที่ 2 ของการเดินทาง ณ ลำปาง
หลังจากได้พักผ่อนอย่างไม่ค่อยเต็มที่เท่าไรนัก เนื่องจากเมื่อคืนรถถึงที่พักตอนตีหนึ่ง ทำให้เราพักผ่อนได้น้อยลง แต่เมื่อตื่นตอนเช้าแล้วก็รู้สึกสดชื่น กับบรรยากาศในเมืองลำปาง ตื่นเช้ามาก็มีรถม้าวิ่งผ่าน ได้บรรยากาศไปอีกแบบ
ในวันนี้อาจารย์จิ๋วได้พามาศึกษารูปแบบอาคารที่ วัดไหล่หินหลวง หรือวัดเสลารัตนปัพพตาราม ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง คนไหล่หินนิยมเรียกสั้น ๆ ว่าวัดหลวง เป็นโบราณสถานที่ประกอบด้วยองค์ธาตุเจดีย์ ซุ้มประตูโขง วิหารโบราณสร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราช ในปี 2226 ที่มีครูบามหาป่าเจ้า และเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงร่วมสร้างในขณะนั้นที่แสดงคุณ ค่าของศิลปะปูนปั้นสกุลช่างลำปาง ตลอดจนอุโบสถหลังเล็กประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุและแก้วสีต่าง ๆ สร้างจากแรงศรัทธาของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย มีประเพณีที่สำคัญ คือ งานปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) งานตานก๋วยสลาก งานสวดเบิกยี่เป็ง และงานบุญอื่น ๆ อีกมากมาย
 |
อาจารย์จิ๋วกำลังอธิบายความเป็นมาของวัดนี้ การใช้พื้นที่ ร่วมกับธรรมชาติรอบๆ วัด |
ซุ้มประตูโขงเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เป็นงานประติมากรรมของช่างฝีมือเชียงตุง ที่มีการก่อสร้างพร้อมกับวิหารโบราณของวัดในปี พ.ศ.2226 หรือจุลศักราช 1085 ครูบามหาป่าเจ้าร่วมกับเจ้าฟ้าเชียงตุง ร่วมกันสร้างขึ้น ลวดลายประติมากรรมที่ประดับอยู่บนซุ้มประตูโขงเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อาทิ หงส์ นก มังกร นาค ตัวมอม เป็นต้น
 |
ซุ้มประตูทางเข้าหน้าวิหาร |
ลักษณะ ของวิหารหลังนี้เป็นวิหารขนาดเล็กเปิดโล่ง ขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๙ เมตร มีผนังก่อทึบก่ออิฐถือปูนเฉพาะด้านข้างทั้งสองด้าน และด้านท้ายของวิหาร โครงสร้างของหลังคาวิหารเป็นแบบ “ขื่อม้าต่างไหม” ส่วนของหลังคามีการลดระดับลงมาด้านหน้า ๒ ซด และลดชั้นหลังคาปีกนกด้านข้างลงมาข้างละ ๑ ตับ ที่ส่วนกลางของหลังคามี “ปราสาทเฟื้อง” ด้านล่างของ “หน้าแหนบ” (หน้าบัน) เป็นแผ่นไม้แกะสลักรูปโค้งที่เรียกว่า “โก่งคิ้ว” ส่วนบนด้านหน้าแหนบ ซึ่งเป็นส่วนทำขึ้นภายหลังเป็นป้านลมทำด้วยปูนซีเมนต์ (ของเดิมเป็นไม้สัก ชาวบ้านทำการรื้อถอนออกในปีพ.ศ.๒๔๘๕) ปิดทับหัวแปทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลักษณะเป็นลำยองนาคสะดุ้ง ใบระกาและหางหงส์ ส่วนช่อฟ้าทำเป็นรูปปั้นนกเขา บนสันหลังคามีรูปนกสตายุขนาดใหญ่เคลือบดินเผา
 |
คันทวย - นาคตัน |
ชิ้นส่วนโครงสร้างโบราณ(เก่า)
 |
ผังบริเวณวัดในอดีต |
 |
ภาพวาดรูปด้านซุ้มประตูทางเข้าและวิหาร ในอดีต |
 |
ช่องเปิดบริเวณระเบียงแก้ว |
 |
ระเบียงแก้ว |
 |
การเชื่อมต่อโครงสร้างระหว่างเสาคอนกรีต และโครงสร้างไม้ในส่วนของหลังคา |
 |
เจดีย์ประจำวัดไหล่หินหลวง |
 |
ลานทรายรอบๆ วิหาร |
ต่อมาเราก็ได้มายัง วัดพระธาตุลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาท ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และ อุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู เช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอก บุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลให้พระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระ อัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุ มีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
 |
ด้านหน้าทางเข้า วัดพระธาตุลำปางหลวง |
 |
อาจารย์จิ๋วกำลังอธิบายความเป็นมาของวัดพระะาตุลำปางหลวง |
 |
บริเวณทางเข้าจากด้านข้าง มีลักษณะเป็นลานหินศิลาแลง |
 |
พระธาตุลำปางหลวง |
 |
วิหารพระแก้ว |
 |
หอพระพุทธ หรือซุ้มพระบาท |
 |
วิหารพระพุทธ |
 |
วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี |
 |
ประตูโขง |
สถานที่ต่อไป ที่เรามาศึกษาต่อ คือ วัดปงยางคก ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน เพราะเป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง (เจ้าพระยาสุรวฤาชัยสงคราม) วีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร ผู้กู้อิสระภาพจากพม่าข้าศึก อันเป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครในภาคเหนือมาตั้งแต่อดีต อีกประการหนึ่ง ก่อนที่เจ้าหนานติ๊บจ๊างจะได้ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าพระยาสุรวฤา ชัยสงคราม ขึ้นปกครองเขลางค์นครลำปาง พระองค์ก็ได้เคยศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดปงยางคกนี้มาก่อน จึงถือว่าเป็นวัดประวัติศาสตร์ของล้านนาที่มีความสำคัญยิ่งทีเดียว
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 15 เมตร มุงด้วยแป้นไม้เกล็ด แต่ในปัจจุบันนี้มุงด้วยดินขอเกล็ด เนื่องจากแป้นไม้เกล็ดได้ผุกร่อนไปตามการเวลา (เพราะเป็นเวลาพันกว่าปีมาแล้ว) วิหารนี้เป็นวิหารขนาดเล็ก ลักษณะทั่วไปของวิหารไม่เหมือนกับวิหารในสมัยปัจจุบัน เป็นวิหารโถงทำด้วยไม้ ตอนล่างเปิดโล่งตลอดไม่มีประตูและหน้าต่าง ตอนสุดท้ายของวิหารมีผนังก่ออิฐฉาบปูนทึบสามด้าน ล้อมกู่พระเจ้าหรือโขงพระเจ้า (คือซุ้มปราสาทเรือนยอดก่อนอิฐก๋วมพระประธานเอาไว้) ลักษณะของการก่อสร้างเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมแบบลานนา ยุคหริภุญไชยสกุลช่างเขลางค์ (ซึ่งต่างกับสถาปัตยกรรมภาคกลาง) หลังคาสามชั้น เป็นวิหารไม้ที่มีความสวยงามมาก เป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมภาคเหนือ มีฐานพระวิหารสูงจากพื้นดินหนึ่งฟุต เดิมคงสูงประมาณสามศอกเศษ แต่เนื่องจากมีน้ำหลาก พาดินจากที่อื่นมาท่วมทับถมทุกปีเป็นเวลาพันกว่าปีมา แล้ว อีกประการหนึ่งจากการขนทรายเข้าวัดตามประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย จึงทำให้ฐานพระวิหารสูงหลือเพียงหนึ่งฟุต โครงสร้างภายในทั้งหมดทุกชิ้นที่เห็น แต่งลายรูปต่าง ๆ พื้นที่ไม้ที่รองรับด้วยลายเขียนน้ำรักปิดทองบนพื้นสีแดงเช่นรูปลาย กระถางดอกไม้บูชาพระ ลายกระหนกเครือเถาว์ เทพยดา ลายดาว ลายเลขาคณิต และรูปอื่น ๆ อีกมาก เสาพระวิหารประดับด้วยลายเขียนศิลปะแบบพื้นเมือง ที่มีความสำคัญยิ่งเพราะ เขียนด้วยรักปิดทอง (ซึ่งต่างจากวิหารทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นภาพเขียนสีที่เรียกว่าลายน้ำแต้ม) ถือว่าเป็นจิตรกรรมเสาวิหารที่สวยงาม ลวดลายละเอียดประณีตวิจิตรบรรจง
 |
วิหารพระแม่จามเทวี |
รายละเอียดโครงสร้างส่วนต่างๆ ของวิหารพระแม่จามเทวี
 |
กู๋จ๊างนบ |
ต่อจากวัดปงยางคกแล้ว เราก็มาศึกษารูปแบบอาคาร บ้านเรือนของชาวบ้านเกาะคา ต.เกาะคา อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งมีรูปแบบอาคารที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจเลยทีเดียว
 |
บ้านหลังนี้ มีความน่าสนใจในส่วนเชื่อมต่อของตัวอาคารที่พาดวางตามยาว ต่อเนื่องกับตามขวาง รวมไปถึงการจัดการพื้นที่ภายใน และรายละเอียดโครงสร้างที่มีอยู่ภายในบ้านอีกด้วย |
 |
ช่องเปิด ที่สามารถเลื่อน เปิด-ปิดได้ |
 |
พื้นที่หน้าบ้านของคุณยายเป็นม้านั่งสำรับนั่งเล่น และรับรองแขก (หลังต่อมา) |
 |
การเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างเรือนใหญ่ และเรือนเล็กด้านหลัง |
จบการเดินทางในวันที่ 2 ที่ชุมชนบ้านเกาะคา ในวันนี้ได้รับความรู้อย่างมากมาย ทั้งในส่วนของวัด และบ้านในชุมชน ก็ต้องคอยติดตามกันต่อสำหรับวันพรุ่งนี้
สำหรับวันนี้..... "หมดยกที่ 2"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น