27/07/2010 : วันที่ 4 ของการเดินทาง ณ ลำปาง
การเดินทางในวันนี้ เราได้มายัง วัดปงสนุกเหนือ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งหากสังเกตุจากผังบริเวณ จะแบ่งออกเป็นวัดปงสนุกเหนือที่มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนเนิน และวัดปงสนุกใต้อยู่บริเวณด้านล่าง เดิมเป็นวัดเดียวกัน แต่ได้แยกออกมา บริเวณวัดปงสนุกเหนือตั้งอยู่บนเนินสูง มีทางเข้าทั้งสี่ทิศ หรือ “ม่อนดอย” ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดบน อันเปรียบเป็นเนินเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารพระเจ้าพันองค์อันศักดิ์สิทธิ์ ตัววิหารได้มีการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมล้านนา พม่า และจีน อย่างลงตัว และหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่สำคัญคือมีเจดีย์ทรงล้านนา หุ้มทองแดงแล้วปิดทองอยู่บนยอด และมีมณฑปแบบล้านนา คือมีหลังคาทรงปั้นหยาซ้อนกันสามชั้นและมีมุกสี่มุกซ้อนกันออกมา มีโครงสร้างที่วิจิตรพิศดาร มีพระพุทธรูปประธานประดิษฐานอยู่สี่องค์ตามแต่ละทิศ บริเวณเพดานมีจิตรกรรมภาพพิมพ์ที่ติดไว้ แทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้มาแล้วมากมาย ชาวบ้านทั้งหลายจึงเรียกวิหารนี้ว่า "วิหารพระเจ้าพันองค์" นั่นเอง
ปัจจุบันมีการบูรณะปฏิสังขรณ์โดยช่างพื้นเมือง ทำการศึกษาจากโครงสร้างเก่าเดิมๆ และปรับปรุงให้คงสภาพ และรักษาให้คงสภาพเดิมมากที่สุด เพื่อไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากสภาพเดิม
ต่อไป เรามายัง วัดศรีรองเมือง ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นวัดพม่าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างโดยช่างฝีมือจากพม่าล้วนๆ ซึ่งบางส่วนของจั่วหลังคาได้ถอดแบบมาจากปราสาทเมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจการทำไม้สักในจังหวัดลำปางเฟื่องฟูมาก
ชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้เป็นคนนับถือศาสนาพุทธ มีศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนา และตามความนิยมของผู้มีฐานะสมัยก่อน (รวมทั้งปัจจุบัน) จะนิยมสร้างวัดเพื่อเสริมสร้างบุญกุศลให้ตนเองและครอบครัว แต่วัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งในการสร้างวัดครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการชำระบาป จากการตัดต้นไม้ ซึ่งคนรุ่นก่อนๆเชื่อว่า มีผีป่า นางไม้ สิงสถิตย์อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ และยังมีเทวดาอารักษ์ป่า การสร้างวัดจึงเป็นการทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสิ่งที่ล่วงเกินนั่นเอง
ตัวอาคาร มีการผสมผสานระหว่างอาคารด้านล่าง ซึ่งเป็นทรงตึก กับอาคารด้านหลังเป็นทรงไม้ คุณค่าของอาคารหลังนี้ก็คือ รูปแบบที่ได้รับมาจากพม่าทั้งหมด มีการทำหลังคาซ้อนเป็นชั้นๆ ใช้สำหรับงานทางด้านศาสนา พระราชวัง หรืออาคารที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ กษัตริย์ หรือชนชั้นสูงเท่านั้น วัสดุหลังคาเป็นกระเบื้องสังกะสี ภายในตีปิดฝ้าไม้ประดับลวดลายที่สวยงาม
ต่อมา เรามายังบ้านใน ชุมชนบ้านแม่จอกนอก ต.แม่ป๊าก อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีการใช้ลานดินโล่ง หลังคาสังกะสีระดับความลาดชันต่างๆ การใช้ผนังไม้และสังกะสีผสานร่วมกัน มีการรวมกลุ่มอาคาร ที่เป็นกลุ่มเครือญาติกัน การใช้สังกะสีในการปิดระนาบ เปิด-ปิด ช่องเปิด ตามสำนึกของชาวบ้านเอง มีการยื่นชั้นออกมา ทำช่องเปิด-ปิด ที่ตอบรับกับการใช้งานจริง
หลังจากที่คณะอาจารย์ ได้ให้พวกเราเดินดูบรรยากาศชุมชนและบ้านชาวบ้านอยู่นั้น ไม่นานนัก ฝนก็ตก ทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งได้ และด้วยเวลาที่ใกล้ค่ำแล้ว เราจึงเดินทางต่อไปยังที่พักในจังหวัดสุโขทัย เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในวันต่อๆไป
สำหรับวันนี้....."พักยกที่ 4"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น