29/07/2010 : วันทีุ่ 6 ของการเดินทาง ณ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
วันนี้เราเดินทางมายัง อำเภอลับแล จังวัดอุตรดิตถ์ มาศึกษาดูอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านแถบนี้ รูปแบบที่พบได้บ่อยคือ การใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ ไม้ไผ่ สังกะสี เป็นต้น ในการสร้างอาคาร การจัดพื้นที่ส่วนใหญ่นั้น จะเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างพื้นที่ภายนอก และพื้นที่ภายใน มีการเชื่อมต่อกันโดยที่บางครั้งเราอาจไม่คาดคิดมาก่อน ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องที่ และบริเวณรอบๆ เช่น ต้นไม้เล็กใหญ่ ลานดินโล่ง ใต้ถุนบ้านหรือแม้แต่แหล่งน้ำใกล้เคียง ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ตามวิถี และภูมิปัญญาของชาวบ้านเอง
บางครั้งโครงสร้างที่เราคิดว่าไม่น่าจะก่อสร้างได้ แต่ชาวบ้านก็สามารถก่อสร้าง และใช้ชีวิตอยู่กับพื้นที่นั้นได้อย่างเป็นปกติ ไม่ต่างจากโครงสร้างของบ้านหลังอื่นๆ ทั่วไป
เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน เราแวะมาทานอาหาร และมาถวายต้นเทียนพรรษา (หลอดไฟ) ณ วัดดอนสัก
ต.บ้านฝาย อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และหวังว่าพวกเราคงจะอิ่มท้อง และอิ่มบุญไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ที่ชื่อว่าวัดดอนสัก เพราะตั้งอยู่บนเนินดินที่แต่เดิมมีต้นสักขึ้นอยู่มากมาย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เคยถูกไฟไหม้มาครั้งหนึ่ง ทำให้โบราณวัตถุเสียหายไปเป็นอันมาก เหลือวิหารซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาลดหลั่นลงเป็น ๓ ชั้น ด้านนอกส่วนหน้าบันประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลาย บานประตูไม้สลักลาย อ่อนช้อยงดงาม ทำด้วยไม้ปรุสลักลวดลายกนกเป็นรูปหงส์และรูปกนก ก้านขดไขว้ลายเทพนมและภาพยักษ์ คันทวยเชิงชาย ก็สลักไม้เป็นรูปพญานาคงดงามเช่นกัน เสาแปดเหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูน บัวหัวเสาเป็นบัวโถกลีบซ้อน บนฝาผนังด้านใน และผิวเสามีภาพเรื่องชาดกต่าง ๆ แต่ค่อนข้างลบเลือน และมีธรรมาสน์เก่าแก่สลักลายติดกระจกสีงดงาม
หลังจากได้รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้เดินสำรวจ และศึกษาอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านในระแวกนั้นกันต่อ รูปแบบบ้านก็จะคล้ายๆ กับที่ได้ศึกษามาในช่วงเช้า แต่ขนาดของบ้านแถบนี้จะมีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้วัสดุสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานมากขึ้น บริเวณลานบ้านส่วนใหญ่ถ้ามีบริเวณใกล้กับบ้านหลังอื่นๆ ก็จะมีการใช้พื้นที่ร่วมกันโดยส่วนใหญ่ หรือในบางโอกาส
ต่อมาเราได้เดินทางมายัง ชุมชนท้องลับแล บริเวณนี้มีวัดท้องลับแล ซึ่งเป็นวัดประจำท้องถิ่น เราจึงได้เข้ามาดูภายในวัด ปรากฏว่า พื้นที่บางส่วนของวัดถูกปรับให้เป็นตลาดของชุมชน มีการค้าขายของกินของใช้ทั่วไป สร้างบรรยากาศให้วัดกลับมามีความครึกครื้นได้อีกครั้ง
จากนั้นเราก็เริ่มออกศึกษาอาคารบ้านเรือนกันอีกครั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีชีวิตที่เรียบง่าย โดยส่วนมากจะเป็นเ็ก และคนแก่ ที่เราพบเจออยู่ในบ้าน ตัวอาคารที่พักอาศัยโดยทั่วไปไม่ต่างจากในช่วงเช้ามากนัก แต่เราก็ได้ศึกษา และทบทวนมุมมองของการมองเห็นความงาม จากอาจารย์เจงว่า "บางครั้ง การมองพื้นที่โดยการถอดรหัสออกมาเป็น จุด เส้น ระนาบ ก็ทำให้เรามองเห็นความงามของพื้นที่ หรืออาคารนั้นได้ โดยไม่ยึดติดกับวัสดุที่เป็นอยู่" ซึ่งบางสิ่งดูเหมือนว่าจะเข้าใจแล้ว แต่เราก็ยังคงต้องฝึกฝนกันต่อไป
สิ้นสุดการเดินทางในวันนี้อีกครั้ง พรุ่งนี้ได้ข่าวมาจากอาจารย์หลายๆ ท่านว่า เราจะไปที่ศรีสัชนาลัยกัน เอาเป็นว่าวันนี้พักผ่อนให้เต็มที่ แล้วพรุ่งนี้ค่อยลุยกันต่อ...
สำหรับวันนี้....."หมดยกที่ 6"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น