วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วย "การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง" (พวต.) หรือ CPD

- ร่าง -
บันทึกหลักการและเหตุผล
ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดา
พ.ศ. ….
-------------------------
หลักการ
       ให้มีข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการต่ออายุใบอนุญาตทุกระดับ และการเลื่อนระดับเป็นสามัญสถาปนิกหรือวุฒิสถาปนิก
เหตุผล
        วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเป็นวิชาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพอาจปฏิบัติต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งในช่วง
ระยะเวลาดังกล่าว ความรู้ วิธีการ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมจะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมไม่สนใจแสวงหาหรือรับรู้ ย่อมจะล้าหลัง และอาจทำให้การให้บริการแก่สาธารณชนขาดประสิทธิภาพหรือขาดความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กระทั่งอาจสร้างความเสียหายแก่สาธารณชนก็เป็นได้
        เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะมีความรู้ความสามารถที่ทันสมัยอยู่เสมอ อันจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการให้บริการวิชาชีพ อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักการมาตรฐานระดับนานาชาติซึ่งมีการบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถและเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ในระหว่างที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การฟังบรรยาย ร่วมสัมมนาหรือสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเป็นผู้เผยแพร่ความรู้วิชาการวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม การอุทิศตนทำงานให้กับองค์กรวิชาชีพสถาปัตยกรรม ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้คะแนนสะสมครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ เพื่อใช้ในการต่ออายุใบอนุญาตทุกระดับ และเพื่อใช้ประกอบการเลื่อนระดับจากภาคีสถาปนิกเป็นสามัญสถาปนิกหรือจากสามัญสถาปนิกเป็นวุฒิสถาปนิก อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิกในอันที่จะส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องออกข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้



- ร่าง -
ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดา
พ.ศ. ….
--------------------------------
       โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะและความรู้ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมรวมทั้งทักษะและความรู้ในด้านอื่นๆ ที่อาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๘ (๖) (ง) (ฉ) และ (ฎ) และมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓ สภาสถาปนิกโดยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษแห่งสภาสถาปนิก จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
       ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้ เรียกว่า “ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ….”
       ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
       ข้อ ๓ ในข้อบังคับนี้
       “การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง” หรือ “พวต.” หมายความว่า การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกระดับ โดยการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์หรือมีเนื้อหาสาระในอันที่จะยกระดับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
       “กิจกรรม พวต.” หมายความว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสภาสถาปนิกให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเข้าร่วมเพื่อเป็นการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องได้
       “ผู้จัดกิจกรรม พวต.” หมายความว่า สถาบัน องค์กร หรือหน่วยงาน ที่กำหนดโดยข้อบังคับสภาสถาปนิกให้เป็นผู้จัดกิจกรรม พวต.
       “หน่วย พวต.” หมายความว่า หน่วยคะแนนที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกรับรองหรือให้ความเห็นชอบสำหรับกิจกรรม พวต.
       “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสภาสถาปนิก
       “คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการชุดที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกได้แต่งตั้งและมอบหมายให้มีหน้าที่ที่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
       “ผู้ประกอบวิชาชีพ” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลธรรมดาตามมาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓
       “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่สภาสถาปนิกออกให้ในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม หรือสาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ แล้วแต่กรณี
       “วิทยากร” หมายความว่า ผู้ทรงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในเนื้อหาหลักสูตรของการฝึกอบรมหรือสัมมนา และให้หมายความรวมถึงผู้ดำเนินการสัมมนาหรือผู้บรรยายหรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะอย่างเดียวกัน ซึ่งสภาสถาปนิกให้ความเห็นชอบ
       “ครูพี่เลี้ยง” หมายความว่า ครูพี่เลี้ยงตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยระบบสถาปนิกฝึกหัด
       “ครูฝึกหัด” หมายความว่า ครูฝึกหัดตามข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยระบบสถาปนิกฝึกหัด
       ข้อ ๔ ให้คณะกรรมการออกระเบียบคณะกรรมการเพื่อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
              (๑) หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นขอความเห็นชอบเพื่อเป็นผู้จัดกิจกรรม พวต. ตามข้อ ๕
              (๒) คุณสมบัติของสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่จะให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดกิจกรรม พวต.ตามข้อ ๕(๕)
              (๓) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณารับรองกิจกรรม พวต. ตามข้อ ๗ (๓) (๔) (๕) (๙) และ (๑๐)
              (๔) หลักเกณฑ์โดยทั่วไปในการกำหนดขอบข่ายกิจกรรมและหน่วย พวต. สำหรับกิจกรรม พวต.ประเภทต่างๆ ตามข้อ ๙
              (๕) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำร้องของผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อขอเทียบหน่วย พวต.ตามข้อ ๑๐ วรรคสอง
              (๖) เนื้อหาสาระของกิจกรรม พวต. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม ตามข้อ ๑๒ (๓)
              (๗) แบบและวิธีการในการยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพ
              (๘) เรื่องอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องและของข้อบังคับฉบับนี้
       ข้อ ๕ ผู้จัดกิจกรรม พวต. ได้แก่ สถาบัน องค์กร หรือหน่วยงาน ดังต่อไปนี้
              (๑) สภาสถาปนิก
              (๒) องค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
              (๓) สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีการสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับการรับรอง ปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร และคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
              (๔) หน่วยงานของรัฐที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
              (๕) สถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
       ข้อ ๖ ผู้จัดกิจกรรม พวต. ต้องเสนอแผนกิจกรรมเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายการกิจกรรมและกำหนดหน่วย พวต. ให้ ก่อนการเริ่มต้นกิจกรรมไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน
       ข้อ ๗ กิจกรรม พวต. อาจอยู่ในขอบข่ายกิจกรรม ดังต่อไปนี้
              (๑) การเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมอันได้แก่ การบรรยาย การฝึกอบรม ประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน ที่จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. และสภาสถาปนิกให้ความเห็นชอบ
              (๒) เป็นวิทยากรในหลักสูตรหรือกิจกรรมตาม (๑)
              (๓) เขียนบทความทางวิชาการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม และได้รับการเผยแพร่ในวารสาร ในที่ประชุมวิชาการ หรือทางสื่อสาธารณะอื่น
              (๔) แต่งหนังสือ หรือตำราทางวิชาการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่
              (๕) เสนอผลงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการด้วยตนเองต่อที่ประชุมวิชาการ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม
              (๖) สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรซึ่งได้รับการรับรองโดยสภาสถาปนิก หรือตามที่คณะกรรมการกำหนด
              (๗) เป็นกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานทางวิชาการหรือทางวิชาชีพในสภาสถาปนิก หรือในองค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพตามข้อ ๕ (๒)
              (๘) การเป็นครูพี่เลี้ยง หรือครูฝึกหัดในระบบสถาปนิกฝึกหัด
              (๙) ประเภทกิจกรรมอื่นๆ ดังต่อไปนี้
                     (ก) การเป็นผู้แทนของสภาสถาปนิกหรือขององค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพ ตามข้อ ๕ (๒) เพื่อร่วมพิจารณาในหัวข้อทางวิชาการหรือทางวิชาชีพ
                     (ข) การศึกษาด้วยตนเองทางวารสารหรือทางอินเทอร์เน็ตในกิจกรรมที่จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. และคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
                     (ค) การเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสภาสถาปนิก หรือขององค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพ ตามข้อ ๕(๒)
                     (ง) การเข้าร่วมกิจกรรมบริการสังคมอื่นๆ ที่เป็นการจรรโลงวิชาชีพ
                     (จ) ประเภทกิจกรรมอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเห็นชอบประกาศกำหนดเพิ่มเติมในภายหลัง
               (๑๐) การเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมอันได้แก่ การบรรยาย การฝึกอบรม ประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน ที่มิได้จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. หรือที่ยังมิได้เห็นชอบโดยคณะกรรมการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหลักสูตรหรือกิจกรรมนั้นต้องเป็นหลักสูตรซึ่งมีประสิทธิผลเป็นการเพิ่มพูนความรู้เพื่อประโยชน์ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
       ข้อ ๘ ให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณารับรองกิจกรรม พวต. ตามข้อ ๗ (๓) (๔) (๕) (๙) หรือ (๑๐) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
       ข้อ ๙ ขอบข่ายของกิจกรรม พวต. ประเภทต่างๆ และหน่วย พวต. สำหรับกิจกรรมพวต. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยทั่วไปที่คณะกรรมการกำหนดในกรณีที่ผู้จัดกิจกรรม พวต. มีข้อเสนอการจัดรูปแบบกิจกรรมที่มีลักษณะแตกต่าง หรือได้ประเมินหน่วย พวต. ที่ผู้ประกอบวิชาชีพว่าน่าจะได้รับแตกต่างจากหลักเกณฑ์โดยทั่วไป ให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. ยื่นคำร้องขอความเห็นชอบหน่วย พวต. ต่อคณะอนุกรรมการก่อนการประกาศแผนกิจกรรมไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. นั้นทราบโดยไม่ชักช้า
       ข้อ ๑๐ ให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. ออกเอกสารรับรองหน่วย พวต. ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมเพื่อเป็นหลักฐาน และให้ผู้จัดกิจกรรม พวต. ส่งรายงานการรับรองหน่วย พวต. ให้แก่ คณะอนุกรรมการภายในสามสิบวันนับจากวันสิ้นสุดกิจกรรม
กรณีเป็นการเข้าร่วมหลักสูตรหรือกิจกรรมที่มิได้จัดโดยผู้จัดกิจกรรม พวต. ดังที่ระบุในข้อ ๗ (๑๐) หากผู้ประกอบวิชาชีพประสงค์จะได้รับหน่วย พวต. ให้ยื่นคำร้องขอเทียบหน่วย พวต. ต่อคณะอนุกรรมการภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นสุดกิจกรรม หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
       ข้อ ๑๑ ผู้ประกอบวิชาชีพจะได้รับหน่วย พวต. ในแต่ละกิจกรรม พวต. ตามที่ผู้จัดกิจกรรม พวต. แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและออกใบรับรองหน่วย พวต. ให้ หรือตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับจากการยื่นคำร้องขอเทียบหน่วย พวต. ตามข้อ ๑๐ วรรคสอง
       ข้อ ๑๒ ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเลือกเข้ารับหรือเข้าร่วมกิจกรรม พวต. ประเภทใดๆ ก็ได้โดยอิสระเพื่อให้ได้รับหน่วย พวต. ครบตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
              (๑) สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องการต่ออายุใบอนุญาต จะต้องได้รับหน่วย พวต. ไม่น้อยกว่า ๖๐หน่วย ในกรณีที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับจากวันที่ยื่นคำร้องขอต่ออายุ
ใบอนุญาต นอกจากจะต้องได้รับหน่วย พวต. ตามวรรคก่อนแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับหน่วย พวต.เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า ๑ หน่วยต่อทุกระยะเวลาสามสิบวันนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือตั้งแต่ต่ออายุใบอนุญาตครั้งก่อนด้วย เศษของสามสิบวันถ้าเกินยี่สิบวันให้คิดเป็นสามสิบวัน
              (๒) สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับสามัญสถาปนิก หรือระดับวุฒิสถาปนิก ต้องได้รับหน่วย พวต. เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยต่อปี นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับภาคีสถาปนิก หรือระดับสามัญสถาปนิก แล้วแต่กรณี หรือตั้งแต่ต่ออายุใบอนุญาตครั้งก่อน
              (๓) หน่วย พวต. ที่ต้องการตาม (๑) หรือ (๒) ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหน่วย พวต. ที่ต้องการทั้งหมด ต้องได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม พวต. ที่มีเนื้อหาสาระซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมในสาขาของตน ตามที่คณะกรรมการกำหนด
              (๔) ผู้ประกอบวิชาชีพอาจสะสมหน่วย พวต. ได้มากที่สุดไม่เกิน ๒๐ หน่วยในแต่ละปี
การนับปีที่มีการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง ให้นับตามปีของอายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
สถาปัตยกรรมควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละคน (มิได้นับตามปีปฏิทิน)
              (๕) การเริ่มนับหน่วยพวต. ให้เริ่มนับเมื่อได้รับใบอนุญาตใหม่ หรือเมื่อต่ออายุใบอนุญาตทุกครั้ง
       ข้อ ๑๓ เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพที่จะต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องต่อสภาสถาปนิกในการต่ออายุใบอนุญาต หรือ ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับสามัญสถาปนิก หรือวุฒิสถาปนิก การยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องให้เป็นไปตามแบบและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
       ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งได้รับโทษผิดจรรยาบรรณโดยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต ยังคงมีหน้าที่ที่
จะต้องสะสมหน่วย พวต. ให้ครบตามที่กำหนดในข้อบังคับฉบับนี้ เพื่อใช้ในการขอต่ออายุใบอนุญาต
       ข้อ ๑๕ กรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพมีเหตุจำเป็นบางประการที่ทำให้ไม่อาจเข้าร่วมกิจกรรม พวต. ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพอาจขอยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอผ่อนผันจำนวนหน่วย พวต. พร้อมคำชี้แจงเหตุผลและหลักฐานยืนยัน โดยจะต้องยื่นคำร้องก่อนวันที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ
ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นอาจ
ได้รับหน่วย พวต. น้อยกว่าที่กำหนดตามข้อ ๑๒ (๑) ก็ได้
       ข้อ ๑๖ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ขอต่อใบอนุญาตโดยไม่ยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องหรือไดัรับหน่วย พวต. ไม่ครบตามที่กำหนดในข้อบังคับ สภาสถาปนิกจะยังไม่ต่ออายุใบอนุญาต หรือออกใบอนุญาตให้จนกว่าผู้ประกอบวิชาชีพจะยื่นหลักฐานให้ครบถ้วนและได้รับหน่วย พวต. ครบตามที่กำหนดในข้อบังคับฉบับนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ ๑๗
       ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตโดยได้รับหน่วย พวต. ไม่ครบตามข้อ ๑๒ (๑) ผู้ประกอบวิชาชีพอาจยื่นคำขอรับใบอนุญาตซึ่งมีอายุคราวละหนึ่งปี โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
              (๑) ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับหน่วย พวต. ไม่น้อยกว่า ๑๘ หน่วยและไม่เกินที่กำหนดตามข้อ ๑๒ (๔) ในระหว่างอายุใบอนุญาตแต่ละปี
              (๒) ผู้ประกอบวิชาชีพจะสามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตซึ่งมีอายุคราวละห้าปีได้เมื่อได้รับหน่วย พวต. แล้วไม่น้อยกว่า ๖๐ หน่วยในระยะเวลาห้าปีย้อนหลังจากวันที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต
       ข้อ ๑๘ หากพบว่าผู้ประกอบวิชาชีพยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องอันเป็นเท็จหรือมีการปลอมแปลงเอกสาร ให้เลขาธิการสภาสถาปนิกเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณโดยไม่ชักช้า
หากพบว่าผู้จัดกิจกรรม พวต. รายใดฝ่าฝืนข้อบังคับ ให้สภาสถาปนิกมีหนังสือตักเตือน หรือยกเลิกการ
ให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดกิจกรรมพวต. ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
       ข้อ ๑๙ ผู้ประกอบวิชาชีพที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมีอายุคงเหลือไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันจำนวนหน่วย พวต. ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
              (๑) อายุใบอนุญาตคงเหลือไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง ทั้งนี้จะต้องเป็นการต่ออายุใบอนุญาตก่อนวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ
              (๒) อายุใบอนุญาตคงเหลือเกินกว่าหนึ่งปีขึ้นไป แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ต้องได้รับหน่วย พวต. เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยต่อปี โดยคำนวณจากระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับมาแล้วหนึ่งปี จนถึงวันที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหมดอายุ ในกรณีที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้วเกินกว่าสามสิบวันนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอต่ออายุใบอนุญาต นอกจากจะต้องได้รับหน่วย พวต. ตามวรรคก่อนแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับหน่วย พวต. เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า ๑ หน่วยต่อทุกระยะสามสิบวัน ในช่วงระยะเวลาที่ใบอนุญาตขาดอายุด้วย เศษของสามสิบวันถ้าเกินยี่สิบวันให้คิดเป็นสามสิบวัน
       ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับสามัญสถาปนิกหรือวุฒิ
สถาปนิกภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันจำนวน
หน่วย พวต. ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
              (๑) กรณียื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นหลักฐานการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง
              (๒) กรณียื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายในระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีขึ้นไป แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้เริ่มใช้บังคับ ต้องได้รับหน่วย พวต. เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยต่อปี โดยคำนวณจากระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับมาแล้วหนึ่งปี จนถึงวันที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพระดับสามัญสถาปนิกหรือวุฒิสถาปนิก

ประกาศ ณ วันที่ ……………………….พ.ศ. ....
นายกสภาสถาปนิก

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

สรุป : ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วย "การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง" (พวต.) หรือ CPD



        วิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องเผชิญ กับภาวะการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัฒน์ และการค้าเสรี อาวุธที่ชาติตะวันตก ผู้นำกระแสใช้เป็นเครื่องมือรุกรานทางเศรษฐกิจ ก็คือ การอ้าง "คุณภาพ" ซึ่งเขาพัฒนามานาน จนมีมาตรฐานสูงในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าเป็นสินค้า หรืองานบริการที่พยายามส่งออกมายังประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย การรับมือการเข้ามาทำงานของสถาปนิกต่างชาติในประเทศ ไม่ใช่โดยวิธีต่อต้าน หากเป็นความจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ โดยการพัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมในบ้านเราอย่างเป็นระบบ และเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันวิชาชีพให้ใกล้เคียง หรือเทียบเท่าระดับสากลมากที่สุด
       สภาสถาปนิกได้ดำเนินการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องมาหลายปี แต่ก็ยังไม่บรรลุผล คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันจึงได้กำหนดเป็นภารกิจเร่งด่วนอีกครั้ง และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพอีกครั้ง ในปี 2550 โดยมีกิจกรรมสำคัญที่เร่งรัด 2 ส่วน คือ
       1. การจัดระบบสถาปนิกฝึกหัดเพื่อเข้าสู่วิชาชีพสถาปัตยกรรม (Intern Development Program:IDP)
       2. การจัดระบบพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Professional Development:CPD) เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลการพัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง และเพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด รูปแบบการทำงานและกระบวนทัศน์ของตนเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางวิชาชีพในประเทศเราได้อย่างเท่าเทียม และเท่าทัน

       "ในการประชุมใหญ่สามัญสภาสถาปนิก ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2552 ได้มีการพิจารณาและผ่านร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก 2 ฉบับ ได้แก่

       1) ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม แต่ละระดับ การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการออกหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. และ
       2) ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพ สถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ….

       ในร่างข้อบังคับฉบับที่สอง เป็นเรื่องใหม่สำหรับวงการสถาปนิกของไทย นั่นคือเรื่องของ "การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง" หรือเรียกโดยย่อว่า "พวต." และรู้จักโดยทั่วไปในภาษาอังกฤษว่า "Continuing Professional Development - CPD" เรื่องของ CPD ได้มีการกล่าวถึงมานานพอสมควรแล้ว พร้อมๆ กับเรื่องของ Internship Development Program - IDP ซึ่งคาดว่าจะมีร่างข้อบังคับตามมาในอนาคต หลักการของการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องตามที่เขียนไว้ในหลักการและเหตุผลของ ร่างข้อบังคับว่า 'เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมจะมีความรู้ความสามารถ ที่ทันสมัยอยู่เสมอ อันจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการให้บริการวิชาชีพ อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักการมาตรฐานระดับนานาชาติซึ่งมีการบังคับให้ผู้ ประกอบวิชาชีพได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถและเสริมประสบการณ์ใหม่ๆ ในระหว่างที่ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ'

       สาระสำคัญของร่างข้อบังคับ ฉบับนี้คือ กำหนดให้ผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อเก็บหน่วย พวต. ไว้สำหรับการต่ออายุใบอนุญาต และใช้ประกอบการเลื่อนระดับเป็นสามัญสถาปนิกหรือวุฒิสถาปนิก ซึ่งหลักเกณฑ์โดยทั่วไปก็คือต้องสะสมหน่วยพวต. 12 หน่วยต่อปี ส่วนกิจกรรมพวต. ตามปกติได้แก่ การบรรยาย การฝึกอบรม ประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน หรือการอื่นในทำนองเดียวกัน แต่ก็ยังรวมไปถึงกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เป็นการ contribute ให้แก่สังคม แก่วิชาชีพ เช่น การเป็นวิทยากร เขียนบทความหรือแต่งหนังสือตำราทางวิชาการ เสนอผลงานวิจัย การร่วมทำงานในองค์กรหรือสมาคมทางวิชาชีพ ฯลฯ

       ในร่าง ข้อบังคับฉบับนี้ได้กำหนดกรอบของการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องในเรื่อง ต่างๆ นอกจากเรื่องจำนวนหน่วย พวต. แล้ว ยังได้กำหนดกรอบในเรื่องของ กิจกรรมพวต. ผู้จัดกิจกรรมพวต. การยื่นหลักฐานหน่วยพวต. มาตรการในกรณีหน่วยพวต.ไม่ครบตามที่กำหนด ฯลฯร่างข้อบังคับฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลเพื่อยกเว้นไม่ต้องยื่นหลักฐาน พวต. ให้สำหรับการต่ออายุใบอนุญาตและการเลื่อนระดับในระยะ 1 ปีหลังออกข้อบังคับ และผ่อนผันจำนวนหน่วย พวต. สำหรับการต่ออายุและเลื่อนระดับในระยะ 1-5 ปีหลังออกข้อบังคับ"

       ท่านสามารถเข้าไปอ่านร่างนี้ได้ที่ http://download.asa.or.th/03media/04law/aa/draftbrCPD.pdf หรือ http://anon-72.blogspot.com/2010/09/cpd_14.html

       ตามที่ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (Continuing Professional Development) CPD หรือ พวต. ผ่านการรับรองโดยเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกผู้เข้าประชุมใหญ่สภา สถาปนิกประจำปี 2552 เมื่อวันเสาร์ ที่ 25 เมษายน 2552 แล้ว โดยมีข้อแนะนำจากสมาชิกที่ต้องปรับ แก้ให้ข้อบังคับมีความชัดเจนสมบูรณ์ ก่อนที่สภาฯ จะเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อประกาศใช้เป็นทางการต่อไป เพื่อให้สมาชิกสภาสถาปนิกทุกท่านได้ทำความเข้าใจถึงที่มา และเหตุผลเจตนารมณ์หลักการ และวิธีดำเนินการในการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพ ขอสรุปประเด็นสำคัญเพื่อเผยแพร่แก่สมาชิกทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

เจตนารมณ์ ของ CPD
       1 . การพัฒนาวิชาชีพศึกษาต่อเนื่อง (CPD) เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ที่ให้สถาปนิกได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพใหม่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความสามารถในการทำหน้าที่ตอบสนองสังคม และส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีจริยธรรม และสำนึกรับผิดชอบต่อ ผลกระทบ ที่จะเกิดจากการปฏิบัติวิชาชีพของตน CPD ที่สภาสถาปนิกผลักดันให้เกิดขึ้น มิใช่เป็นเพียงการสร้างความเข้มแข็งในทางวิชาการวิชาชีพแก่สถาปนิกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมให้สถาปนิกมีบทบาทในการทำงานเพื่อสังคมด้วยจิตอาสา มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เสียสละเวลา และมีส่วนร่วมกิจกรรมจรรโลงวิชาชีพ ตามกำลัง และความถนัดเพื่อร่วมพัฒนาวิชาสถาปัตยกรรมให้เจริญก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง ทั้งในฐานะผู้รับผู้ร่วมกิจกรรม หรือในฐานะผู้ให้ ผู้ชี้แนะแก่สถาปนิกรุ่นเยาว์ ด้วยประสบการณ์ที่ท่านสั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงานวิชาชีพ
       2 . เมื่อ CPD กลายมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการทำงานข้ามพรมแดน (Cross Border) ของสถาปนิกภายใต้สัญญาการค้าเสรี สถาปนิกหลายท่านเห็นว่า CPD กลายเป็นเงื่อนไขข้อกีดกันทางการค้า แต่หากพิจารณาด้วยเหตุผล และใจที่เป็นกลาง CPD เป็นเพียงกลไกเทียบเคียงคุณภาพของสถาปนิกนั่นเอง
       คำถามต่อเนื่องว่าถ้าเราจะไม่สนใจจะไปทำงานร่วมกับสถาปนิกต่างชาติ จะไม่เข้าร่วม CPD ได้หรือไม่ หรือจะเป็นเหตุให้ถูกตัดสิทธิในการได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือไม่ และมีอีกหลายคำถามที่สถาปนิกหลายท่านกังวล และตั้งคำถาม ซึ่งจะขอไปสรุปในคำถามคำตอบท้ายบทอีกที ก่อนอื่นขอให้ข้อมูลซึ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ ที่สถาปนิกควรรับทราบเกี่ยว กับ CPD สภาสถาปนิกพิจารณาในการจัดทำข้อบังคับการพัฒนาวิชาชีพ ดังนี้

ผู้จัดกิจกรรม CPD ได้แก่ สถาบัน องค์กร หรือ หน่วยงาน ดังต่อไปนี้
       1. สภา สถาปนิก
       2. องค์กร หรือ สมาคมทางวิชาชีพที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบ
       3. สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ทำการสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมที่ได้รับการรับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร และ สภาฯ ให้ความเห็นชอบ
       4. หน่วยงานของรัฐที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบ
       5. สถาบัน องค์กร หรือ หน่วยงานอื่นๆ ที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้จัดกิจกรรม CPD จะต้องเสนอแผนกิจกรรมเพื่อให้สภาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ รายการกิจกรรม และ การกำหนดหน่วย CPD เสียก่อนที่จะเริ่มต้นกิจกรรมไม่น้อยกว่า 45 วัน

กิจกรรม CPD
       ประเด็นนี้ สมาชิกหลายท่านยังเข้าใจผิดว่า CPD เน้นแต่การฝึกอบรม หรือการศึกษาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเท่านั้น แต่ CPD ที่สภาฯ กำหนดนี้อยู่ในขอบข่ายกิจกรรม ที่ค่อนข้างหลากหลาย ดังต่อไปนี้
       1. การฝึกอบรม / ประชุม สัมมนา หรือ อื่น ๆ
       2. เป็นวิทยากรในหลักสูตร หรือ กิจกรรมตามข้อ 1
       3. เขียนบทความวิชาการ และ เผยแพร่ในการประชุมวิชาการ โดยมีเนื้อหาวิชาชีพ และสภาฯ ให้การรับรอง
       4. เขียนหนังสือ / ตำราวิชาการที่เกี่ยว กับ วิชาชีพ และเผยแพร่ โดยสภาฯ ให้การรับรอง
       5. เสนอผลงานวิจัย / วิชาการต่อที่ประชุมวิชาการโดยมีเนื้อหาวิชาชีพ และสภาฯ ให้การรับรอง
       6. สำเร็จการศึกษาในระดับสูงขึ้น ในหลักสูตร / สาขาที่สภาฯ ให้การรับรอง
       7. เป็นกรรมการ / อนุกรรมการ / คณะทำงานในสภาฯ หรือองค์กรวิชาชีพที่สภาฯ ให้การรับรอง
       8. เป็นครูพี่เลี้ยงในโครงการสถาปนิกฝึกหัด
       9. กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การเป็นผู้แทนของสภาฯ องค์กรวิชาชีพ ที่สภาฯ รับรอง / การเป็นกรรมการ / อนุกรรมการ อื่น ๆ / การเข้าร่วมกิจกรรมจรรโลงวิชาชีพ – บริการสังคม / การเข้าร่วมประชุมใหญ่สภาฯ และสมาคมวิชาชีพ ซึ่งต้องเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ใน 5 ปี
       10. การเข้าร่วมกิจกรรมบรรยาย ประชุม สัมมนาโดยองค์กร อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม พวต . ที่สภาฯ ให้การรับรองเนื้อหา สาระวิชา / กิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถเท่าที่สำรวจจากโครงการ CPD ที่นานาประเทศดำเนินการ และที่คณะอนุกรรมการพัฒนา สรุป เสนอสภาพัฒนา จะครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้
              1. การรื้อฟื้นหลักการ และความรู้พื้นฐานด้านต่าง ๆ เช่น ออกแบบ / เทคโนโลยีการก่อสร้าง / สิ่งแวดล้อม / นิเวศน์วิทยา
              2. ระเบียบ / กฎหมาย / เทคนิคการปฏิบัติวิชาชีพ ที่เปลี่ยนแปลง หรือปฏิบัติเป็นสากล
              3. ความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพโดยตรง
              4. ความก้าวหน้าทางวิชาการ และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง / ข้างเคียง เช่น เทคโนโลยี การก่อสร้าง / วัสดุก่อสร้างใหม่ๆ เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบ
              5. ความรู้เฉพาะทาง และที่ได้รับประกาศนียบัตร / ปริญญา
              6. ความรู้ด้านการศึกษา และการวิจัยสถาปัตยกรรม
              7. การทำงานบริการสังคม และเพื่อการจรรโลงวิชาชีพ

       หมายเหตุ : กิจกรรม CPD และเนื้อหาสาระวิชา / กิจกรรมฝึกอบรมนี้ผู้จัดกิจกรรม พวต. แต่ละแห่ง จะต้องวางแผนกิจกรรม โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และความพร้อมของตน และนำเสนอเพื่อให้สภาฯ ให้การรับรองก่อนประกาศใช้ สถาปนิกทั้งหลายสามารถเลือกทำกิจกรรมข้ามสาขาได้ซึ่งจะทำให้โอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมีหลากหลายตามความสนใจของตน

การรับรองหน่วย CPD
       ให้ผู้จัดกิจกรรม CPD เป็นผู้ออกเอกสารรับรองหน่วย CPD ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพที่ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตร หรือกิจกรรม เพื่อเป็นหลักฐานให้ผู้จัดกิจกรรม CPD รายงานการรับรองหน่วย CPD ให้แก่สภาฯ ภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสุดกิจกรรม การเข้าร่วมกิจกรรม CPD ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเลือกเข้ารับ หรือเข้าร่วมกิจกรรม CPD ใดก็ได้โดยอิสระ เพื่อให้ได้รับหน่วย CPD ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
       1. ผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องการต่อใบอนุญาตฯ จะต้องได้รับหน่วย CPD ไม่น้อยกว่า 60 หน่วย (หรือ 12 หน่วย ต่อปี ตลอด ระยะ เวลา 5ปี)
       2. หน่วย CPD ที่ต้องทำไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน หน่วย CPD ที่ต้องการทั้งหมดต้องได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม CPD ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องโดยตรง กับวิชาชีพสถาปัตยกรรมในสาขาของตน ตามที่สภาฯ กำหนด
       3. หน่วย CPD สะสมได้มากที่สุดไม่เกิน 20 หน่วยในแต่ละปี

       หมายเหตุ : ระยะแรกของการเริ่มเข้าสู่ CPD ผู้จัดกิจกรรม CPD น่าจะส่งเสริมสนับสนุนให้สถาปนิกเข้าร่วมกิจกรรมโดยกำหนดหน่วย CPD ให้สูงไว้ก่อน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีโอกาสสะสมคะแนนให้ได้ครบ โดยไม่ต้องทำกิจกรรมมากจนเป็นภาระ และให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่อยๆ เกิดความคุ้นเคยในที่สุด การยื่นหลักฐาน CPD ของผู้ประกอบวิชาชีพต่อสภาฯ ผู้ประกอบวิชาชีพมีหน้าที่จะต้องยื่นหลักฐานการเข้าร่วม CPD ต่อสภาฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการขอต่อใบอนุญาตฯ หรือขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
สถาปัตยกรรมควบคุมระดับสามัญสถาปนิก หรือวุฒิสถาปนิก

       พลเรือ เอกฐนิธ กิตติพน นายกสภาสถาปนิก ประกาศกับสื่อมวลชนว่า.... สภาสถาปนิกมีแนวคิดที่จะออกข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาชาชีพต่อ เนื่อง (พวต.) เพื่อเพิ่มโอกาสให้สถาปนิกได้พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่สถาปนิกเมื่อสอบใบประกอบวิชาชีพแล้วก็จะสามารถใบประกอบวิชาชีพ นั้นตลอดชีพ แต่หลังจากนี้สถาปนิกทุกคนจะต้องพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง โดยกำหนดให้แต่ละคนจะต้องทำให้ได้ 12 หน่วยกิต/ปี ซึ่งหน่วยกิตจะได้มาด้วยการ เข้าร่วมประชุมกับสมาคมวิชาชีพทั้ง 4 สาขา, เข้าร่วมชมงานของแต่ละวิชาชีพ, ฟังบรรยายทั้งจากสมาคมวิชาชีพหรือตามมหาวิทยาลัยจะได้เรื่องละ 1 หน่วยกิต, เป็นคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน, เป็นอาจารย์สอนพิเศษในมหาวิทยาลัย หรือเขียนหนังสือเผยแพร่

        นอกจากนี้สภายังกำหนดให้นักศึกษาที่จบการศึกษาจะต้องฝึกงานสถาปนิกเป็น เวลา 2 ปี จึงจะสามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ เพื่อเพิ่มทักษะจากที่ได้เรียนรู้มาและมีทักษะในการออกแบบได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ตามหลักสูตร 5 ปี รวมแล้วจะต้องใช้เวลา 7 ปี จึงจะสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้ ข้อบังคับดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงมหาดไทยประกาศใช้

        “การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องก็เพื่อให้สถาปนิกไทยได้พัฒนาความรู้ความ สามารถให้ทันสมัยอยู่ต่อตลอดเวลาให้สถาปนิกไทยสามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้ เพื่อรองรับการเปิดเสรีวิชาชีพสถาปนิกที่จะเริ่มทยอยเปิดในปีหน้า” 




       ภาพบรรยากาศ และรายละเอียดอื่นๆ ระหว่างการสัมมนา และบทสรุปงาน ASA เสวนา ตอน CPD..ดี (หรือไม่ดี) จริงหรือ? สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.asa.or.th/?q=node/99721